หนทางสู่วันที่ดีกว่า ตอนที่ 1 (นับเงินทอน) … หัดเด็ก สมาธิสั้น จิตเภท ย้ำคิดย้ำทำ

หนทางสู่วันที่ดีกว่า ตอนที่ 1 (นับเงินทอน) … หนทางสู่วันที่ดีกว่า …. ราวๆกว่าสองปีก่อน ผมครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรให้เฟิร์นอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง ผมลองตั้งโจทย์ง่ายๆขึ้นมาว่า ถ้าคนๆหนึ่งอยู่คนเดียวได้ ออกจากบ้านไปไหนมาไหนได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้ คนๆนั้นต้องมีทักษะอะไรบ้าง ….

ซีรี่ย์นี้ ผมจะย้อนเวลาไปเมื่อสองปีกว่าที่แล้ว เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ เคล็ดลับต่างๆ ที่ผมกับเฟิร์นลองผิดลองถูกกันมา เผื่อจะมีประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองหัวอกเดียวกัน (ที่ถูกหวยเบอร์ใหญ่ปานนี้ 555) ได้เอาไปประยุกต์ใช้กัน

หนทางสู่วันที่ดีกว่า ตอนที่ 1

สำหรับคนไอคิวและอีคิวปกติอย่างเราๆนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร เราผ่านขบวนการเรียนรู้มาทั้งโดยตรงและอ้อมจากในระบบโรงเรียน ครอบครัว และ สภาพแวดล้อม ตามวัยและพัฒนาการทางสมองและปัญญา

แต่สำหรับคนๆหนึ่งที่เกิดมาสมาธิสั้น ไอคิวคาบเส้น มีอาการย้ำคิดย้ำทำ และ เป็นโรคจิตเภท เติบโตมานอกระบบการเรียนรู้แบบพวกเรานั้น มันท้าทายมากที่เขาจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างพวกเรา (ในวัยที่เท่าๆกัน)

สองปีก่อนผมได้เริ่มโครงการหนึ่งขึ้นมา เพื่อจะหัดให้เขาอยู่คนเดียว ดูแลตัวเองให้ได้

นั่นทำให้ผมต้องกลับไปไล่เรียงแนวคิดใหม่ว่า ทักษะขั้นต่ำอะไรที่ทำให้คนปกติอย่างเราๆอยู่ได้ด้วยตัวเอง แล้วเอาบริบทของความพิเศษที่เฟิร์นมีและเป็นลงไปสวม + ความจำเป็นเฉพาะของครอบครัว

ผมได้เขียนเป็นข้อๆขึ้นมา โดยเว้นข้อที่เฟิร์นทำได้แล้ว เอาเฉพาะข้อที่ตอนนั้นเขายังทำไม่ได้

  • ข้ามถนน 4 เลน (กรณีไม่มีสะพานลอย)
  • ตั้งนาฬิกาปลุกก่อนนอน และ ตื่นเมื่อนาฬิกาปลุก
  • จำเบอร์โทรฯ และ โทรฯ หาคุณพ่อ คุณแม่ บ้าน และ ญาติพี่น้อง
    • ใช้ ไลน์ ในการคุยโต้ตอบ และ โทรฯ
  • วาดแผนที่ทางกลับบ้าน
  • หาป้อมตำรวจที่ใกล้ที่สุด บอกตำรวจได้ว่าหลงทาง บอกที่อยู่บ้านกับตำรวจได้
  • นับเงินทอน ซื้อของร้านสะดวกซื้อ(มีใบเสร็จ) และ ร้านขายของชำ ตลาดสด ที่ไม่มีใบเสร็จ
  • รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส รถเมล์ เรือด่วนเจ้าพระยา (ลงเลยป้าย หรือ สถานี ขึ้นย้อนกลับมาเองได้)
    • แบบซ้อมก่อนแล้วปล่อยให้ไปกลับเอง
      • บ้าน ที่ทำงาน (MRT เตาปูน – รถเมล์)
      • บ้าน กศน. (MRT ห้วยขวาง)
      • บ้าน บ้านญาติ (อา) (MRT อโศก – BTS แบริ่ง)
      • บ้าน คลีนิคฯคุณหมอประจำ (MRT ไทรม้า)
      • บ้าน ตึกผู้ป่วยนอก รพ.ศิริราช (MRT เตาปูน – รถเมล์ ท่าพระราม 7 – เรือด่่วนเจ้าพระยา)
      • บ้าน ตึกภปร. รพ. จุฬา (MRT สีลม)
      • บ้าน ตึกพระเทพ รพ. รามา (MRT จตุจักร – BTS อนุสาวรีย์ฯ – รถเมล์)
      • บ้าน ตึก A รพ. พญาไท 2 (MRT จตุจักร – BTS สนามเป้า)
    • กูเกิลพิมพ์แผนที่จากบ้านแล้วไปผจญภัยที่ใหม่ๆเองตั้งแต่ครั้งแรก
  • หาจุดพิกัดสถานที่โดยใช้ google map และ เดินตามแผนที่ google บนมือถือให้ได้
  • อยู่คอนโด อพาร์เม้นท์ ได้เองคนเดียว
    • ใช้เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ รีดผ้า
    • ใช้คีย์การ์ด และ สามารถจำระหัสผ่านได้
    • แลกแบงค์ย่อย แบ่งเงินเดือนเป็นส่วนๆใส่ซองเพื่อใช้ประจำวันในแต่ล่ะสัปดาห์
    • ไปชำระค่าสาธารณูปโภค (น้ำ ไฟ โทรศัพท์) ที่ร้านสะดวกซื้อ
    • โทรฯ 191, 199 และ เบอร์ ฉุกเฉินต่างๆได้ เช่น รถพยาบาล สน.ใกล้คอนโดฯหรืออพาร์ทเม้นท์ ฯลฯ
    • จัดยาประจำสัปดาห์ จำชื่อสามัญ และ ชื่อการค้า บอกสรรพคุณยาแต่ล่ะชนิดที่ใช้ประจำ
    • ทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำสัปดาห์
    • วางแผนการทำงานต่างๆประจำสัปดาห์
  • ใช้ applications ต่างๆ เรียกแท๊กซี่ และ บอกทางแท๊กซี่กลับบ้าน (จากจุดที่เคยไปมาแล้ว)
  • เบิดบัญชีธนาคาร ฝากถอนเงินที่สาขา และ ATM
  • เลือกชุดที่จะใส่ออกจากบ้านให้เหมาะกับ เวลา สถานที่ และ งานที่จะไป

หลายอย่างที่เธอก็ทำเป็นแล้วก็จะไม่รวมไว้ในรายการที่ต้องหัด เช่น ดูแลกิจวัตรส่วนตัว หุงข้าว ทำกับข้าวพื้นฐาน ซักผ้าด้วยมือ ล้างจาน ล้างห้องน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน และ อื่นๆ

ถ้าคุณอ่านแล้วรู้สึกว่า อะไรกันนักกันหนา เรื่องง่ายๆ ทำไมต้องทำให้ยากและเยอะ เด็กๆที่บ้านไม่เห็นต้องตั้งโปรแกรมหัดกันแบบนี้เลย เอาเงินใส่มือ ก็วิ่งไปซื้อของปากซอยได้แล้ว

ถ้าคุณอ่านแล้วรู้สึกอย่างนั้น ผมอยากจะบอกว่า คุณโชคดีครับ

แต่ผมก็ไม่ได้โชคร้ายอะไรครับ ตรงกันข้ามผมมีโอกาสที่ได้ทดสอบความสามารถ ความอดทน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และ การนำพรหมวิหาร 4 อันมี เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา มาใช้ในการฝึกเฟิร์น

นอกจากนั้น ผมยังได้ประสบการณ์ดีๆต่างๆมากมาย พบคนดีๆ มีเมตตา และ ได้สัมผัสความรักที่แท้จริง สัมผัสองค์พระคริสต์ผ่านทางที่ยากลำบาก ทางที่ต้องแบกกางเขนบนบ่ากันสองคนพ่อลูก

… ทางที่เดินผ่านกันมากับเฟิร์น …

ตอนนี้เป็นปฐมบทของซีรี่ย์นี้ ก็ขอพื้นที่เท้าความเกริ่นนำกันมากนิดนึง …

ก็ขอเอาเคล็ดลับเล็กๆมาคุยกันเป็นตอนแรกก็แล้วกันครับว่า ผมหัดให้เขาทอนเงิน นับเงินให้ถูกต้องได้อย่างไร

หนทางสู่วันที่ดีกว่า ตอนที่ 1 ….

นับเงินทอน

เรียนให้ทราบก่อนนะครับว่า เด็กพิเศษ แต่ล่ะคนไม่เหมือนกัน มีความสามารถที่เด่น ปานกลาง หรือ ด้อย กันไปคนล่ะด้าน เราจะต้องมองให้ขาดให้ทะลุว่าเขา เด่น ปานกลาง หรือ ด้อย ทางไหน แล้วออกแบบการฝึกให้สอดคล้องกัน

กรณีของเฟิร์น เขามีพรสวรรค์ในการเขียน บรรยาย พรรณา เป็นตัวหนังสือ มีสิ่งที่เรียกว่า ความทรงจำแบบรูปภาพ หรือ memory picture เฟิร์นจะจำรูปภาพ แผนภาพ แผนภูมิ กราฟ แผนที่ ฯลฯ ได้ดี

แต่เฟิร์นจะช้าเรื่อง ตรรกะ เหตุผล คำนวน เช่น แดงสูงกว่าดำ ดำสูงกว่าขาว ดังนั้น แดงจะต้องสูงกว่าขาว ไม่ใช่ว่าเฟิร์นจะไม่เข้าใจเลยนะครับ เฟิร์นเข้าใจ แต่ต้องขยายความกันนานหน่อย แน่นอนว่่า ต้องวาดรูปการ์ตูนของ ดำ แดง และ ขาว ประกอบการอธิบายในกระดาษ

และที่สำคัญผมจับเคล็ดลับได้อย่างหนึ่งว่า อะไรก็ตามที่ทำซ้ำๆมากพอ เฟิร์นจะทำได้เองแม้ไม่ต้องอธิบาย (ภาษาคอมพิวเตอร์เรียก brute force แปลง่ายๆคือ เอาถึกเข้าว่า)

เคล็ดลับอีกอย่างคือ ต้องแบ่งสิ่งที่ต้องฝึกที่ยาวๆ ทอนให้สั้น และ ทำซ้ำวนๆไป ตัวอย่างเช่น ในการฝึกหนึ่ง ถ้าผมต้องซอยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ผมก็จะต้องฝึกเฟิร์นแบบ

11111 ไปเรื่อยๆจนคล่อง แล้วมาฝึก 222222 จนคล่อง แล้วฝึก 12 12 12 12 ไปจนคล่อง แล้วฝึก 333333 จนคล่อง แล้วฝึก 123 123 123 จนคล่อง แล้วฝึก 44444 จนคล่อง แล้วจึงฝึก 1234 1234 1234 1234

แค่คุณอ่านก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมครับ 555 ตอนทำจริงคูณไปเลย เหนื่อยกว่าที่คิด 10 เท่า

นับ และ นับ

กรณีนับเงินทอนนี้ก็เช่นกันครับ ผมแลกธนบัตร และ เหรียญ ทั้งหมดที่มีในระบบการเงินของไทยเรามาให้เขานับก่อนเลยสัปดาห์หนึ่งเต็มๆทุกวัน ทุกเย็นๆเราก็ไม่ทำอะไร ก็จะกรีดธนบัตรขนาดต่างๆ นับว่าปึกนึงมีกี่ใบ ราวพนักงานหน้าเคาเตอร์ธนาคารก็ไม่ปาน เพราะเฟิร์นมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยเช่นกัน

การนับแบงค์นับเหรียญที่ดูเหมือนง่ายกับพวกเรา สำหรับเฟิร์นนั้น เป็นงานที่ต้องใช้สมาธิราวนั่งปฏิบัติวิปัสนาก็ไม่ปาน

ผมให้เธอนับในทุกๆอริยาบท ยืนนับ นั่งนับ นอนนับ เอาจั๊กแร้ข้างหนึ่งหนีบกระเป๋าบ้าง กระเป้าคล้องแขนบ้าง สะพายเป้ไหล่บ้าง จำลองให้เหมือนสถานการณ์จริงทุกอย่าง

ก็หัดกันทุกเย็นน่ะครับ ปาไปอาทิตย์เต็มๆกว่าจะนับได้ถูกทั้งแบงค์ ทั้งเหรียญ นี่แค่นับว่า กี่ “ใบ” กี่ “เหรียญ” นะครับ ยังไม่ผสมคำนวนอออกมาเป็นจำนวนเงินเลย

นี่คือการฝึก 11111 อย่างที่เกริ่นไป

นับให้เป็นจำนวนเงิน

นี่ก็เป็นตอนที่ท้าทายอีกครับ ผมผสมทั้งเหรียญ และ แบงค์ คละในรูปแบบต่างๆจำนวนหนึ่ง ที่ไม่เยอะมากให้เฟิร์น ให้เฟิร์นบอกว่า ทั้งแบงค์ ทั้งเหรียญ ที่ผมให้ไปเป็นจำนวนเงินเท่าไร

นี่คือการฝึก 22222

ที่นี้ก็จับมารวมกัน คือ ผมยื่น ปึกธนบัตร และ กองเหรียญ แล้วให้เฟิร์น แล้วผมบอกเฟิรน์นับเงินมาให้ผมตามจำนวนที่ผมบอก เช่น เอาเงินมาให้ผม 127 บาท 50 สตางค์เป็นต้น ซึ่งก็คือ ฝึก 12 12 12 12 เป็นการผสมการนับ กับ การคิดเป็นตัวเลขเข้าด้วยกัน

บวก ลบ บวก ลบ

ขึ้นต่อมาที่จะเป็น 33333 ก็คือ บวกลบเลข ผมให้เฟิร์นทำในกระดาษก่อน เฟิร์นเคยเรียนเลขพื้นฐานมาบ้างแล้ว มีความรู้เลขในระดับ ม. 3 ผมก็ให้เธอตะบี้ตะบัน เน้นบวกลบเลข 4 หลัก (และมีจุดทศนิยม 2 หลัก) เพราะว่าเธอคงไม่มีโอกาสซื้อของเกิน 9999 บาท (ฮ่า)

(ตอนจบผมให้เฟิร์นมีเครื่องคิดเลขเล็กๆติดตัวไว้ แต่ก็ต้องมีทักษะพื้นฐาน ก่อนจะไปใช้เครื่องคิดเลข)

บวกๆลบๆจนคล่องนั่นแหละครับ เสร็จแล้วก็ขั้นสุดท้าย เอาทุกอย่างมาประกอบร่างกัน

ร้านค้าจำลอง

ในขั้นตอนนี้ ผมจัดร้านจำลอง role play กัน สองคนพ่อลูก พ่อขาย ลูกซื้อ เอาแบงค์จริง เหรียญจริง มาใช้ทุกประเภท ทุกราคา ตอนผมไปแลกแบงค์แลกเหรียญ พนักงานธนาคารที่คุ้นกันดี แอบแซวว่า วันนี้จะเอาไปหัดลูกสาวอีกเหรอค่ะ 🙂

เทียบกับขบวนการข้างบนก็คือ 123 123 123 123 123 ไปจนคล่อง

ขับออกถนนใหญ่

สนามฝึกต่อมาก็คือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านนั่นแหละครับ เลือกเอาตอนที่ไม่ค่อยมีลูกค้า เริ่มจาก

  • ซื้อของง่ายๆ 1 ชิ้น ไม่มีเศษสตางค์ ถ้าถูกผ่านไปขั้นต่อไป ถ้าผิด ก็กลับมาซ้อมที่บ้าน แล้วออกไป(สอบ)ใหม่
  • ซื้อของ 2 ชิ้น ไม่มีเศษสตางค์ … ถ้าถูก … ถ้าผิด … เหมือนข้างบน
  • ซื้อของ 3 ชิ้น ไม่มีเศษสตางค์ …
  • ซื้อของ 1 ชิ้น มีเศษสตางค์
  • ซื้อของ 2 ชิ้น มีเศษสตางค์
  • ซื้อของ 3 ชิ้น มีเศษสตางค์

1234 1234 1234 1234 1234 ….

วนไปอีกรอบกับร้านชำข้างทางแบบไม่มีใบเสร็จ และ ตลาดนัด ซึ่งเธอก็จะทำได้ดีขึ้น เพราะผ่านมาแล้วแบบ 1234 1234 1234 มาไม่รู้กี่ครั้ง ก็จะลื่นขึ้น สอบผ่านเร็วขึ้น

กว่าจะสำเร็จหมดจรด ร้านสะดวกซื้อก็ได้เงินผมไปหลายบาทล่ะ ผมก็เดินเข้าเดินออกธนาคารแลกแบงค์แลกเหรียญ จนพนักงานหน้าเคาเตอร์อมยิ้ม

ในโลกแห่งความเป็นจริง

ผมทราบดีว่าในโลกแห่งความเป็นจริง พวกเราไม่ต้องโดนหัดแบบนี้หรอก เราทำเป็นเองโดยธรรมชาติ พวกเราโชคดีกว่าอีกหลายๆชีวิตบนโลกใบนี้ สำนัึกในความโชคดี และ ใช้ความโชคดีของเราอย่างมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ต่างๆนะครับ …

เมื่อสำเร็จ ผมก็หายเหนื่อย ….

กลับไปดูรายการฝึกที่เหลืออยู่ที่ยาวเป็นหางว่าว แล้วก็เงยหน้ามองฟ้า กอดเฟิร์นเอาไว้ แล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่ …

เราจะเดินไปด้วยกันใช่ไหมลูก …

เดินไปด้วยกันกับพ่อนะ …

Update ชีวิตน้องเฟิร์นค่ะ

ซีรี่ ADHD

ซีรี่ บทเรียนของน้องเฟิร์น

Scroll to Top