เด็กสมาธิสั้น … เราควรบอกเขาไหมว่าเขาเป็นเด็กสมาธิสั้น

เด็กสมาธิสั้น …

เราควรบอกไหมว่าเขาเป็น เด็กสมาธิสั้น … ผมเชื่อว่าเป็นคำถามคาใจคุณพ่อแม่ของเด็กสมาธิสั้นหลายๆคน ซึ่งก็รวมผมไปด้วยคนหนึ่งล่ะ วันนี้ผมจะมาชวนมองประเด็นนี้ให้รอบๆด้าน ชวนคิดต่อง หาเหตุผลมาค้านกันไปค้านกันมา

ความเห็นคุณหมอ

แน่นอนว่าคนแรกที่เราต้องไปขอความเห็นคือ คุณหมอจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คำตอบที่ผมได้จากกรณีน้องเฟิร์น คือ “ควรบอก” คำถามต่อมาที่ผมถามคุณหมอคือ ควรบอกตอนไหน คำตอบคือ “เมื่อพร้อม” … แล้วเมื่อไรที่พร้อม มีสัญญานอะไรบอกว่าพร้อม

ระหว่างที่ตัดสินใจกัน ผมก็ได้สำรวจ สอบถามความคิดเห็นจากพ่อๆแม่ๆเด็กสมาธิสั้นที่พอจะรู้จัก เพื่อฟังความเห็นต่าง

ควรจะบอก

หนึ่งในหลายความเห็นก็เห็นว่า ควรจะบอก เพราะเด็กจะได้เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับเขาที่โรงเรียน คนรอบๆข้าง ทำไม เพื่อนๆ และ ครูที่โรงเรียน มีปฏิกริยาต่อเขาอย่างที่เป็นอยู่ เพราะถ้าไม่บอก ไม่อธิบาย เขาจะไม่เข้าใจ เขาจะคิดว่าเขาก็เหมือนกับคนอื่นๆนี่นา

ผลที่ตามมาก็คือ เขาจะเสียความมั่นใจในตัวเอง เสีย self esteem (ความนับถือตนเอง เชื่อมั่น และ ภูมิใจในตนเอง) มองตัวเองเป็นตัวปัญหา ด้อยค่า ไม่มีคนรัก ไม่มีคนต้องการ อันจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาตามมาอีกพะเร่อเกวียน เช่น หันไปพึ่งยาเสพติด หรือ เรียกร้องความสนใจในทางที่ผิดๆ

เมื่อเขารู้ว่าเขาเป็นอะไร ทำไมคนรอบข้างถึงมีปฏิกริยาอย่างนั้น เขาก็จะได้รู้ตัว ปรับตัว ไม่คาดหวังเกินความเป็นจริง ทำใจและอยู่ได้อย่างมีความสุขตามที่ควรเป็นควรมี

อุปมาเหมือนกับเราบอกเป็ดให้รู้ว่าเธอเป็นเป็ดนะ ต่อให้เธอฝึกฝนพยายามอย่างไร เธอก็ไม่มีวันบินได้เหมือนนก เธอก็จะใช้ชีวิตอย่างความเป็นเป็ด มีความสุขกับการเป็นเป็ด แบบเป็ดๆ แน่นอนว่า เธอไม่ควรหยุดหัดบิน หัดก็หัดไป อย่างน้อย เธอก็จะบินอยู่ในอากาศได้นานขึ้นกว่า เพื่อนๆเป็ดที่ไม่ได้พยายามหัดบิน และ เธอก็จะสุขภาพดี เพราะได้ออกกำลังกายโดยการพยายามหัดบิน ก็เป็นประโยชน์อยู่ดี

ไม่ควรจะบอก

บ้างก็บอกว่า ไม่ควรบอก ปล่อยให้เขาพยายามปรับตัว หรือ เรียนหนังสือไปตามปกติ เพราะเกรงว่าการบอกจะเป็นการปิดกันความพยายามของเขาที่จะพัฒนาตัวเอง เหมือนกับไปบอกเขาว่า เขาสมาธิสั้นน่ะ เขาไม่สามารถอย่างโน้นอย่างนี้ เขาจะมีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนกับเป็นการเอาเหตุผลไปครอบ ถ้าเราไม่บอกเขา เขาอาจจะพยายามจนผ่านอุปสรรค และ ประสบความสำเร็จได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

หรือคุณพ่อคุณแม่บางคนก็เล่าให้ฟังว่า การไปบอกนั้น เท่ากับเป็นการเอาเหตุผลไปให้เขาใช้อ้าง เวลามีพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ เช่น พูดเร็ว พูดเสียงดัง ผูกเชือกรองเท้าไม่ได้ ลืมโน้นลืมนี้ ฯลฯ

ทั้งๆที่ถ้าเขาไม่รู้ เขาอาจจะพยายามลดพฤติกรรมเหล่านี้ แต่พอรู้แล้วว่า อ๋อ เขาเป็นแบบนี้ของเขาเอง งั้นไม่พยายามปรับล่ะ ก็คุณพ่อคุณแม่บอกหนูเองนี่นาว่า หนูไม่ผิดที่เป็นแบบนี้ … กลายเป็นแบบนั้นไปก็มี ผมไม่ได้บอกนะครับว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หมอว่าถูกหรือผิด แค่รวบรวมเอาความเห็นหลายๆแบบมาเล่าสู่กันฟัง

มีตัวอย่างให้เห็นอยู่หลายๆกรณีที่พ่อแม่ไม่บอก ลูกก็ไม่รู้ ก็สู้ก็ฝ่าฟันไป ซึ่งแน่นอนว่า ระหว่างทางการสู้และฝ่าฟันกันไปนั้น ก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวด แต่ก็ไปกันจนรอด ได้ปริญญา ได้งานทำ แต่งงาน มีลูก ฯลฯ

ซึ่งก็เป็นกรณีศึกษาว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป แล้วพ่อแม่ไปบอกลูกล่ะ ลูกจะมีวันนี้ไหม (ปริญญา งาน ครอบครัว ฯลฯ)

ในความคิดของผม

นั่นคือ สองมุมมองที่ผมสุ่มๆถามๆเอา ก็รวบรวมสรุปมาได้สองแนวที่ต่างฝ่ายต่างก็มีหลักฐาน มีเหตุผล สนับสนุน แนวความคิดและปฏิบัติของตนเอง

ส่วนตัวในความคิดของผมนะครับ ถูกทั้งคู่ครับ ขึ้นกับสองปัจจัยหลักๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดสินใจเอาเอง

  1. ระดับความสมาธิสั้น

  2. ระดับ EQ (Emotional Quotient) ที่แปลเป็นไทยว่า ความฉลาดทางอารมณ์

  3. ระดับ AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา และ ฝ่าฝันอุปสรรค

ระดับสมาธิ

ต้องประเมินอย่างตรงไปตรงมาที่สุด อย่าประเมินแบบเข้าข้างตนเอง ADHD หรือ ADD (ไม่ Hyper) นั้น มีหลายความรุนแรง ถ้ารุนแรงมากๆจริงๆ ถ้าไม่บอกแล้วโอกาสที่จะจบสวยคงน้อยมากๆ

แต่ถ้าประเมินแล้ว ยังน่าจะสามารถเขย่งได้ ก็ไม่ต้องบอกก็ได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ต้องพิจารณาข้อต่อมาประกอบ คือ EQ และ AQ

EQ และ AQ

ผมรวมสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันไปเลย ถ้าประเมินระดับความรุนแรงของสมาธิสั้นแล้ว เห็นว่ายังน่าจะเขย่งได้ ก็ต้องมาดูว่า EQ AQ เขานั้นดีไหม ถ้าดี คือ ไม่ผิดหวังแล้วหงุดหงิดโวยวาย มีความมานะพยายามแก้ไขปัญหา มองโลกในแง่ดี จิตใจดี เชื่อฟังพ่อแม่ แบบนี้ผมเชียร์ให้ไม่ต้องบอก เพราะเขาจะเขย่งๆ และ ฝ่าฝันไปได้แน่ๆ

แต่ถ้ามีอาการ EQ AQ ต่ำประกอบด้วย แบบนี้ โอกาสที่จะจบสวยนั้นก็จะต่ำตามไปด้วย การบอกความจริงกับเขา อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในภาพรวม สังเกตุว่าผมไม่พูดถึง IQ เลยในกรณีนี้ เพราะผมเชื่อว่า EQ AQ นั้น สำคัญกว่า ต่อให้ IQ เริ่ด แต่สมาธิสั้นแล้ว EQ AQ ต่ำ โอกาสประสบความสำเร็จนั้นยากมาก

ถ้าจะบอก จะบอกเมื่อไร และ อย่างไร

ตอบแบบคุณหมอ คือ บอกเมื่อเด็กพร้อม ตรงนี้ล่ะ เราๆพ่อแม่ ต้องพิจารณาเอาเอง ว่าเขาพร้อมจะรับรู้ได้เมื่อไร ส่วนบอกอย่างไรนั้น ผมมิบังอาจจะให้คำแนะนำ ผมจะบอกวิธีที่ผมบอกเฟิร์น และ ภัทร ก็แล้วกัน

ในกรณีเฟิร์นนั้นความรุนแรงอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็นอุปสรรคเอาเรื่องอยู่ และ ยังมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยอีก 2 อาการหลักๆ ที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาสมาธิสั้นใดๆรักษาได้ เพราะถ้ารักษาสมาธิสั้นด้วยยาแล้ว ผลข้างเคียงของยา ไปกระตุ้นทำให้อาการอย่างอื่นที่ว่า 2 อย่างนั้น เด่นชัดขึ้นมา ซึ่งจะแย่กว่าสมาธิสั้น

แมื่อต้องเลือกระหว่าง แย่แบบธรรมดา กับ แย่กว่า ผมจึงต้องเลือก แย่แบบธรรมดา 555 🙂 โดยการไม่รักษาอาการสมาธิสั้น แต่ไปรักษาเจ้าอาการสองอย่างที่ว่านั่น

จึงเป็นที่มาที่ผมเลือกที่จะบอกเฟิร์นว่าเขาเป็นอะไร … แล้วให้เอาเขาออกจากระบบการศึกษาแบบมาตราฐานทั่วไป ให้เขาฝึกอาชีพ สนับสนุน และ หาสิ่งที่เขาชอบให้ทำ ให้เขามีความสุขแบบเป็ดน้อยในบึง ที่ไม่ต้องบินไปไหนไกลขอบบึง หาจอกแหน หากุ้งหอย สัตว์น้ำตัวเล็กๆ เลี้ยงชีพ อยู่ขอบๆบึงนั่นแหละ

เสียงหัวเราะ และ รอยยิ้มของเขาในทุกๆวัน เป็นข้อพิสูจน์ที่บอกว่าครอบครัวผมตัดสินใจถูกที่บอก

ผมบอกเขาว่า “เขาเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สมาธิสั้น เขาควบคุมน้ำเสียงไม่ค่อยได้ ลืมบ่อย กล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือไม่ค่อยประสานกับความคิด ฯลฯ บอกไปหมดนั่นแหละ มันจะไม่หายไปไหน มันเป็ฯเหมือน สีผม สีผิว มันก็อยู่ ก็เป็นของมันอย่างนั้น แต่ข่าวคือ ถ้าหนูฝึกหัด สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่คุณพ่อบอก มันจะดีขึ้นๆ แต่ถ้าหนูไม่พยายาม ไม่ฝึกหัด มันก็จะแย่ลงๆ หนูควบคุมอนาคตของหนูเอง ไม่มีใครช่วยหนูได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คุณพ่อ คุณแม่ ก็ยังรักและอยู่กับหนูเสมอ”

สรุป

ไม่มีคำตอบตายตัวครับ ปรึกษาคุณหมอ ประเมินคุณลูก ถามใจตัวคุณเอง

ความหวังเป็นสิ่งสวยงาม เป็นแรงพลักดันให้พยายาม แต่ความหวังนั้น ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ อย่ารับฟังกรณีตัวอย่างครอบครัวโน้นเขาบอก ครอบครัวนี้เขาไม่บอก ครอบครัวนั้นจบสวย ครอบครัวนี้จบไม่สวย แต่ล่ะกรณีเหตุปัจจัยมันแตกต่างกัน ทั้งตัวเด็กเอง ทัศนคติ ความอดทนของพ่อแม่ ชุมชน โรงเรียน คนแวดล้อม ก็ต่างกัน

ดังนั้น ในความเห็นของผม ผมว่า ประเมินสถานการณ์รอบๆ “ของเรา” ให้รอบคอบ โดยไม่ไปเปรียบเทียบกับครอบครัวคนอื่น ลูกคนอื่น เพราะนั่น ไม่ใช่ครอบครัวเรา และ ไม่ใช่ ลูกเรา

ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ขอให้เป็นทางที่เขาได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เขาต้องมีความสุขด้วย รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเขา จะเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่า เราตัดสินใจเป็นอย่างไร

——————————-

เรื่องราวที่อาจจะน่าสนใจครับ

การฝึกเด็กสมาธิสั้น ตอนที่ 1 พูดกับหนูให้ ชัดๆ สั้นๆ และ กระชับ หน่อยนะคะ

การฝึกเด็กสมาธิสั้น ตอนที่ 2 ช่วยหนูแปลไทยให้เป็นไทยหน่อยนะคะ

(ตอนที่ 3 ยังไม่ได้เขียน เพราะมาแวะเขียนเรื่องนี้นี่แหละ 555 …. โปรดติดตาม)

(ad) …

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการฝึกเด็กสมาธิสั้นให้รู้จักเวลา คือ เวลามันเป็นนามธรรม รูปธรรมที่เราๆท่านๆใช้อยู่ คือนาฬิกาแบบเป็นจอเข็มๆ หรือ ตัวเลข นั่นยังไม่พอสำหรับเด็กกลุ่มนี้ครับ วิธีหนึ่งที่ผมใช้ได้ผลคือ ลงทุนซื้อนาฬิกาทรายหลายๆสี หลายๆขนาด มาใช้ฝึกเด็กๆครับ เมื่อเขาคุ้นเคยกับว่าว่า “เวลา” แล้ว จากนั้น ค่อยขยับขึ้นเป็นนาฬิกาแบบเข็ม เพราะมีลักษณะเป็นรูปภาพ ส่วนตัวเลขนั้น เหมือนจะง่าย แต่มันมีความเป็น รูปธรรมน้อยกว่านาฬิกาแบบเข็มครับ ผมเลยเลือกที่จะสอนนาฬิกาตัวเลขเป็นแบบสุดท้าย

เริ่มต้นจากนาฬิกาทราย ง่ายที่สุดครับ

Scroll to Top