ผู้ป่วยจิตเวชไม่ต้องกินยา ได้ไหม ทำไมต้องกิน บอกเล่าเท่าที่รู้มา

ผู้ป่วยจิตเวชไม่ต้องกินยา ได้ไหม ทำไมต้องกิน บอกเล่าเท่าที่รู้มา – เมื่อวานบ่ายๆ จู่ๆเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้คุยกันนัก แต่เราก็สนิทกัน ส่งไลน์นี้มาให้อ่าน (อาจจะเป็นเพราะรู้ว่าครอบครัวผมมี 4 คน และ ผมเป็นคนเดียวที่ไม่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ผมน่าจะให้คำปรึกษาได้ดีที่สุด 555)

“อาการดีเพรสเหมือนสมองเป็นแผล ยาต้านเศร้าทำให้สมองรักษาตัวเอง มันไม่ได้ทำให้อาการหายทันทีอาการดีเพรส (หมดแรงทำงานไม่ได้นานเป็นสัปดาห์/เดือน) ก็เหมือนกับสมองเป็นแผล มันเหมือนสมองถูกความเครียดกระแทกมากๆจนเป็นแผล

เนื่องจากสมองแต่ละคนไม่เหมือนกัน เหมือนผิวบางคนโดนอะไรนิดเดียวก็เป็นแผล แต่บางคนไม่ค่อยเป็นไร ดังนั้นบางคนเจอวิกฤติก็เป็นโรคซึมเศร้า แต่บางคนไม่เป็นไร

หลังจากเป็นแผลแล้วการทำงานของสมองก็จะรวน (ซึ่งวัดได้จากสารสื่อประสาท และมองเห็นจากสแกน MRI) ในหัวเลยเต็มไปด้วยความคิดลบ ปราศจากความสุข ซึ่งทำให้ความเครียดดำเนินต่อไปอีกเรื่อยๆ แม้ปัญหาผ่านไปนานแล้ว เหมือนเป็นแผลแล้วมือเรายังคงไปแกะกวนให้แผลนั้นไม่หายสักที

ยาต้านเศร้าไม่เหมือนยาแก้ปวด มันไม่ได้ทำให้อาการหายเมื่อทานไป 30 นาที เพราะแผลหายทันทีไม่ได้ แต่อาศัยปริมาณยาที่สะสมในร่างกายจากการกินยาต่อเนื่อง ไม่ขาดแม้สักมื้อเดียว จะทำให้สมองและความคิดเราเริ่มเป็นปกติ คิดลบน้อยลง เริ่มมีความสุขได้ เริ่มสนใจและทำสิ่งต่างๆ ก็เหมือนเมื่อเราไม่เอามือไปเขี่ยแผล แล้วแผลจะค่อยๆดีขึ้นเอง ดังนั้นเมื่อแผลเริ่มดีขึ้นแล้ว

เราก็ต้องเลี่ยงความคิดลบ และลุกขึ้นกลับมาทำกิจกรรมเพื่อสร้างคุณค่าของตัวเองด้วย เพราะการอยู่เฉยๆนานๆก็ทำให้วิธีคิดเราเปลี่ยนไป มองเห็นคุณค่าตัวเองน้อยลง เราจึงต้องลุกขึ้นค่อยๆกลับมาใช้ชีวิต เหมือนคนขาหักพอเริ่มดีขึ้นต้องลุกเดิน ถึงจะหายเร็วกว่ายังคงนอนเฉยๆต่อไป

หลายคนหายจากช่วงดีเพรสแล้วยังคงติดนิสัยคิดลบต่อ เลยไม่หายจากโรคสักที เนื่องจากนิสัยที่เบลมว่าความรู้สึกตัวเองเกิดจากปัญหาในชีวิตจากคนโน้นคนนี้ เลยไม่หันมาจัดการความคิดตัวเอง อย่างนี้แม้ว่ายาจะช่วยให้สมองทำงานปกติแล้ว แต่เราเจตนาไปเขี่ยแผลเอง นั่นทำให้อาการดีเพรสกลับมาอีกเรื่อยๆนานหลายปี

ว่าจะเลิกนิสัยแบบนั้น แม้ว่าปัญหาจะมาจากใคร เราก็ต้องรับผิดชอบจิตใจตัวเอง ไม่ต้องไปรอให้เขาแก้ไข บางทีโรคก็ทำให้เราเกิดนิสัยแบบนี้ขึ้นมา เลิกรับผิดชอบจิตใจตัวเอง แม้ยาทำให้สมองทำงานปกติได้ แต่ยาแก้นิสัยไม่ได้ ใครเป็นแบบนี้ก็ต้องแก้นิสัยตัวเอง ด้วยจิตบำบัดหรือฝึกสติ ถึงจะหายขาดได้

ผมเองก็เป็นคนนึงที่เป็นแบบนั้น กินยาเป็นสิบปีดีขึ้นแต่ไม่หาย จนเปลี่ยนแปลงตัวเองก็หายในไม่กี่ปี”

ตามด้วยคำถาม

“เห็นด้วยไหม ตอนนี้ลูกสาวคนโตเรากินยาต้านเศร้าอยู่ เราเพิ่งรู้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา”

ผู้ป่วยจิตเวชไม่ต้องกินยา ได้ไหม

ผมก็ตอบไปว่า เห็นด้วยแค่ครึ่งเดียว และ ความเห็นที่ไม่มีที่มาที่ไปจากอาแปะในไลน์นั้น ไม่ควรเชื่อ ผู้เขียนเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งเท่านั้น ถ้าถามผู้ป่วย 100 คน ก็อาจจะได้ 100 ความเห็น ที่เหมือนบ้าง ต่างบ้าง

ถ้าถามว่ามันจริงอย่างที่ผู้ป่วยคนนี้เล่าไหม คำตอบคือ จริง แต่ก็จริงของผู้ป่วยท่านนั้น อาจจะไม่จริงกับผู้ป่วยอีก 99 คน และ อาจจะไม่จริงตามหลักวิชาการแพทย์ เขาควรจะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังอย่างเป็นวิชาการจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

ผู้ป่วยจิตเวชไม่ต้องกินยา

เท้าความ

หลังจากคุยกันสั้นๆ ได้ความว่า …

เขาเป็นคนสังเกตุอาการลูกสาว (21 ปี เรียนปี 3) เอง และ ได้พาไปพบจิตแพทย์ แต่ในระยะหลัง เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา และ อื่นๆ ลูกสาวเขาจึงได้ไปพบแพทย์เอง เรื่อยมา จนเมื่อไม่นานมานี้เขาถึงพบว่าลูกสาวได้ทานยาต้านเศร้ามาแล้วเดือนเศษๆ

ผมจึงชมเชยเขาไปว่า เขาดีมากนะ ใจกว้าง ยอมรับว่าลูกมีปัญหา และ รีบหาทางแก้ไขอย่างถูกวิธี ด้วยการไปพบจิตแพทย์ มีหลายคนมากๆที่มีอคติกับการไปพบจิตแพทย์ แล้วทำให้ปัญหาบานปลาย

นอกจากตัวเขาเองแล้ว ลูกสาวเขาก็กล้าหาญ และ มั่นมาก ที่ไปพบจิตแพทย์เอง หมายความว่า เธอยอมรับ เผชิญความเป็นจริง และ ต้องการรักษาให้ถูกวิธี ซึ่งตรงข้ามกับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมรับความจริง หลีกเลี่ยง

ผู้ปกครอง คนที่รัก ต้องมีปัญหาในการนำไปพบแพทย์ เมื่อพบแล้ว ได้ยามา ก็ทานบ้างไม่ทานบ้าง แอบโยนทิ้งแล้วบอกว่าทานแล้ว ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิผล ไปจนถึงล้มเหลว

เอสโตรเจน เทสโทสเทอโรน

เอสโตรเจน เทสโทสเทอโรน ทั้งสองชื่อนี้ทุกคนทราบดีว่า ชื่อแรก คือ ฮอร์โมนเพศหญิง มีผลต่อการที่ร่างกายจะแสดงออกถึงความเป็นเพศหญิง เช่น ไม่มีลูกกระเดือก เสียงแหลม มีหน้าอก ไม่มีหนวด เป็นต้น ผมขอเรียย่อๆว่า E ก็แล้วกัน

ชื่อที่สอง คือ ฮอร์โมนเพศชาย ก็ตรงกันข้าม ผมขอเรียกว่า T

คนเราที่มีลักษณะความเป็นเพศที่ปกติจะมีสมดุลของ E และ T อยู่ในช่วงๆหนึ่ง ถ้าความสมดุลเสียไป ลักษณะทางกายภาพก็จะแปร่งๆไป เช่น ผู้หญิงมีหนวดขึ้น หรือ ผู้ชายไม่มีลูกกระเดือก

สาเหตุเกิดจากโรงงานผลิต E และ T เจ๊ง ไม่ว่าจะเจ๊ง เพราะ เจ๊งแต่กำเนิด หรือ เจ๊งเพราะโรคภัยที่มาที่หลัง ถ้าเจ๊งเพราะโรคภัย แพทย์ก็จะไปรักษาที่โรคภัยเหล่านั้น แล้วโรงงานที่เจ๊งก็น่าจะกลับมาทำงานได้เช่นเดิม

แต่ถ้าเจ๊งแต่กำเนิด การรักษาก็ที่เป็นที่ยอมรับกันคือ เพิ่ม หรือ ลด E หรือ T เพื่อให้สัดส่วนของมันในร่างกายผู้ป่วยกลับมาเป็นอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยการให้ E หรือ T เสริม หรือ ให้ยาที่ไปเพิ่ม หรือ ลด การสร้าง E หรือ T

การปรับพฤติกรรม โดยหมั่นทำพฤติกรรมให้ตรงตามเพศที่ต้องการ เช่น แต่งหน้าทาปาก ใส่ใจทำผมเผ้า ก็คงไม่สามาถทำให้หนวดที่ขึ้นหายไปได้

การปรับสภาพแวดล้อม เช่น ไปอยู่ในหมู่ผู้ชายด้วยกัน ไปทำกิจกรรมแบบแมนๆร่วมกับเพื่อนแมนๆ ไปอยู่รร.ชายล้วน ก็คงไม่ทำให้ลูกกระเดือกงอกโตขึ้นมา ไม่ทำให้หน้าอกเล็กลง

อินซูลิน

ไม่ต้องอธิบายกันยาว ทุกคนรู้จักอินซูลิน ถ้าขาดไปก็มีอาการเบาหวาน ถ้าขาดเพราะโรค ก็ไปรักษาโรค พอโรคหาย ก็น่ามีอินซูลินกลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้ากรรมพันธุ์ล่ะ ก็ต้องให้อินซูลินเสริม

การปรับพฤติกรรม ไม่ทานหวาน ไม่ได้ทำให้อินซูลินเพิ่มขึ้นมาเอง แต่ทำให้ผลจากการที่อินซูลินขาดมันบรรเทาลง

การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ก็ไม่น่าทำให้อินซูลินในร่างกายเพิ่ม แต่อาจจะมีส่วนในการปรับพฤติกรรมอันทำให้ผลจากการที่อินซูลินขาดมันบรรเทาลง เช่น เปลี่ยนกลุ่มมื้อเที่ยงเพื่อนจากเพื่อนชวนอ้วน ไอศครีมเลิฟเว่อร์ๆ ไปอยู่ในสังคมมื้อเที่ยงเพื่อนมังสะวิรัติหรือกลุ่มเพื่อนเบาหวานด้วยกัน เป็นต้น

วิตามินดี

ทุกคนรู้ดีว่า วิตามินดีมีความจำเป็นต่อร่างกาย ส่วนหนึ่งมาจากการกินเข้าไป อีกส่วนหนึ่งร่างกายสร้างขึ้นได้เองจากแสงแดดและการออกกำลังกาย

นาย ก. วิ่งออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างเดียว ก็สร้างวิตามินดีได้พอเพียง นาย ข. วิ่งออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้ตายโรงงานผลิตวิตามินดีก็ยังผลิตได้ไม่พอ โรงงานมันพิการ ก็ต้องทานวิตามินดีเสริมไปตลอดชีวิต

ดังนั้นผลการรักษาแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กลับว่าเราไปสัมภาษณ์ใคร

ไปถาม นาย ก. ก็บอกว่า ไม่ต้องทานวิตามินดีเสริมหรอก ออกกำลังกายกลางแจ้งเอาอย่างเดียวก็พอ นาย ค. ได้ยินเข้า ทำตาม ก็ไม่ได้เสียที ก็ยังเป็นตะคริวง่าย และ ผิวซีดเป็นซอมบี้ อยู่นั่นแหละ (อาการขาดวิตามินดี)

ในทางกลับกัน ถ้าเปลี่ยงสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนไปอยู่ชนบท ที่ต้องเดินไปทำงานยามเช้า และ เดินกลับบ้านยามเย็น เที่ยวล่ะ ครึ่งชม. ร่างกายก็จะสร้างวิตามินดีเพิ่มได้เองเช่นกัน

จำได้เลาๆว่าเคยอ่านความเห็นคุณหมอจิตเวชท่านหนึ่ง

กลับไปกูเกิลไม่เจอ แต่จำได้ว่าท่านเขียนจับความได้ประมาณนี้

คนเรานี่แปลก ถ้าร่างกายแสดงอาการผิดปกติออกมาเพราะสารเคมีบางอย่างขาดไป มากไป ไม่สมดุล ร่างกายผลิตเองไม่ได้ ผลิตเองมากไป ฯลฯ เรายอมรับที่จะปรับสารเคมีตัวนั้น ด้วยยา วิตามิน เกลือแร่ ฮอร์โมน แล้วก็เสริม ก็เติม ก็แก้กันทั้งชีวิต

แต่พอเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองที่ เกิน ขาด ไม่สมดุล ทำให้เกิดอาการทางจิตใจ และ อารมณ์ กลับไม่ยอมรับการรักษาด้วยวิธีเดียวกัน มักคิดกันไปว่าเป็นเพราะนิสัย การเลี้ยงดู ทัศนคติ ทั้งๆที่ก็เป็นสารเคมีเหมือนกัน แทนที่จะเป็น ฮอร์โมน วิตามิน เกลือแร่ ก็เป็น โดปามีน เป็นสารสื่อประสาทอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ต่างกับ ฮอร์โมน เอสโตรเจน หรือ ฮอร์โมนอื่นๆ ที่คนเราก็ยอมรับการกินเสริมกัน หรือ กินยาเพื่อกระตุ้นให้สารเคมีนั้นเพิ่มหรือลดกัน

ความเห็นของผม

ท่านเทียบสารเคมีในสมองกับสารเคมีอื่นในร่างกาย คนมักไม่รู้ว่าสมองคนเราทำงานได้ด้วยสารสื่อประสาทหลายๆชนิด ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่อยู่ในสมองเรา มันขาดได้ เกินได้ ไม่ต่างกับ วิตามิน เกลือแร่ และ ฮอร์โมน

ไม่ว่ามันขาดหรือ เกิน มันก็ส่งผลออกมาเหมือนกัน เพียงแต่ วิตามิน เกลือแร่ และ ฮอร์โมน จะส่งผลทางกาย ส่วน สารสื่อประสาทส่งผลทางจิตใจ และ อารมณ์ แต่ทัศนคติต่อการรักษากลับต่างกันโดยสิ้นเชิง

การปรับพฤติกรรมก็เป็นการช่วยยาเหมือนกัน

ตัวอย่างง่ายๆ ขาดวิตามินดี ก็ต้องทานเสริม + ประพฤติกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง สมาธิสั้น เพราะโดปามีนพร่อง ก็ทานยาที่กระตุ้นให้สร้างโดปามีน และ ฝึกพฤติกรรมทำซ้ำๆให้มีสมาธิ สมองจะถูกหลอกให้สร้างโดปามีนลงได้เองส่วนหนึ่ง (เหมือนร่างกายสร้างวิตามินดีได้เองเมื่อออกกำลังกายกลางแจ้ง)

มันจะเทียบเคียงได้ประมาณนี้แหละ ดังนั้น มันจึงเอื้อกันและกัน เราควรเน้นการรักษาแบบรวมๆ วิตามินดีเสริมก็ทาน แต่ก็ต้องไปวิ่งกลางแจ้งรับแดดรับลมด้วย ผลการรักษามันถึงเต็มร้อย เสริมทั้งจากข้างนอก ปรับทั้งพฤติกรรมเพื่อให้ร่ายกายมันสร้าง(หรือลด)ของมันเอง ช่วยๆกัน

การรักษาโรคจิตเวช

การรักษาที่ครบองค์จริงๆ ควรรักษาทั้ง 3 เรื่องไปพร้อมๆกัน เพราะมันเสริมกันและกัน

ยาให้ผลเร็วที่สุด แต่ก็มีผลข้างเคียง มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับหลายปัจจัย ก็ว่ากันไป แต่สารสื่อประสาทนั้นสมองเราถูกหลอกให้สร้างเพิ่มหรือลดได้ ด้วยการปรับพฤติกรรม ซึ่งต่างจาก E และ T หรือ อินซูลิน ที่การปรับพฤติกรรม ไม่มีผล แต่จะไปคล้ายกับวิตามินดี ที่พฤติกรรมการออกกำลังกายกลางแจ้งจะมีผลทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ต้องกินซ่อมเสริมน้อยลง

การปรับพฤติกรรม สารสื่อประสาทจะออกแนววิตามินดี คือ การปรับพฤติกรรม ฝึกสมาธิ มองโลกในแง่บวกเยอะๆ ทำอะไรให้ช้าๆลง ออกสังคมสังสรรค์ กระโดดโลดเต้น เล่นดนตรี ออกกำลังกาย ขี่ม้า เล่นหมากรุก ฯลฯ ฝืนๆปรับพฤติกรมมเน้นๆบ่อยๆ จะหลอกสมองได้ ผลคือ กินยาน้อยลง (ผลข้างเคียงก็น้อยลง) จนถึงไม่ต้องกินยาเลย (สำหรับผู้ป่วยบางราย ขึ้นกับระดับความเจ๊งของโรงงานผลิตฯ)

การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นตัวแปรตรงเหมือน ยา หรือ การปรับพฤติกรรม แต่มันจะช่วยเสริมให้การปรับพฤติกรรมได้บ่อยขึ้นและนานขึ้น เช่น ไปนั่งสมาธิในที่เงียบๆเหมาะสมๆกับ ไปนั่งสามธิกลางสี่แยกไฟแดง ผลการนั่งสมาธิก็จะไม่เท่ากัน เป็นต้น  หรือ แม้กระทั่งการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมบังคับให้ปรับพฤติกรรมไปโดยปริยาย เช่น การย้ายไปชนบทในตัวอย่างวิตามินดี หรือ เปลี่ยนกลุ่มเพื่อมื้อเที่ยงกรณีอินซูลิน

ดังนั้น

เมื่อได้ยิน หรือ อ่านความเห็นของผู้ป่วยที่มาแบ่งปันประสบการณ์การรักษาด้วยความหวังดี ว่า ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เท่านั้นเท่านี้ ก็หายได้ ไม่ต้องพึ่งนั่นพึ่งนี้ ทำนั่นทำนี่ ก็ให้ตระหนักไว้ว่า มันก็จริงสำหรับผู้ป่วยท่านนั้น รับฟังไว้ด้วยใจเบิกบาน ขอบคุณ ไม่อคติ

เพียงระลึกไว้เสมอว่า โรงงานผลิตสารสื่อประสาทของเขาสภาพความเจ๊งไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกับของเรา

ถ้ามีคนมาบอกผมว่า รักษาด้านเดียว หรือ สองด้าน ก็ดีขึ้น หรือ หายสนิท ไม่ต้องรักษาอีก ด้าน หรือ สองด้าน ก็ได้ ผมก็จะแนะนำด้วยความหวังดีว่า ถ้าทำเพิ่มให้ครบ 3 ด้าน (ยา ปรับพฤติกรรม ปรับเลี่ยนสภาพแวดล้อม) อาการที่ว่าดีขึ้น ก็อาจจะหายสนิท ที่ว่าหายสนิท ก็อาจจะหายสนิทได้เร็วขึ้นผลข้างเคียงน้อยลงและค่าใช้จ่ายอาจจะถูกลง

ผิด ถูก อย่างไร ไม่รับประกัน แต่ก็เป็นความเข้าใจที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ตรงมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่อยู่กับผู้ป่วยจิตเวชในครอบครัวถึง 3 คน ครับ …

(หมายเหตุ – เคยอ่านพบงานวิจัยที่สรุปว่า ผู้ที่เจริญสมาธิวิปัสสนา หรือ การเข้าฌานขั้นสูง เช่น โยคี หรือ พระ สามารถบังคับ กำหนดบังคับอารมณ์ได้ ด้วยการปรับการผลิตสารเคมีสื่อประสาทต่างๆได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผมเห็นด้วย 100% ว่าท่านเหล่านั้นทำได้ เพราะผมก็พอได้สำผัสด้วยตัวเองจากการปฏิบัติวิปัสสนา แต่ก่อนที่จะมีฌานระดับนั้น ก็ต้องมีวินัยฝึกฝนปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ต้องการสารเคมีที่ปกติสมดุลเป็นพื้นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การหวังว่าจะรักษาด้วยวิธีนี้ จึงเหมือนปัญหา ไก่กับไข่ น่ะครับ)

คำสำคัญ  – ผู้ป่วยจิตเวชไม่ต้องกินยา

What make a child a child today เด็กคนนี้โตมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร

Scroll to Top