เลือก คุณหมอจิตเวช ให้ลูกสมาธิสั้น อย่างไรถึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิผล

เลือก คุณหมอจิตเวช อย่างไร เป็นหัวข้อแรกๆที่ผมโดนถามมาตลอด ผมเองก็ไม่ใช่ผู้รู้ในด้านนี้แต่อย่างไร แต่ก็ผ่านประสบการณ์ตรงมาเยอะเท่านั้น จึงอยากจะรวบรวมความคิดเห็นที่ได้เคยแบ่งปันกันไปตามเมล์ต่างๆไว้ที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง คือถ้าถามคำถามทำนองนี้ผมผมก็จะได้ก๊อปลิงค์ไปแปะเลย อิอิ 🙂

ลักษณะพิเศษของโรคจิตเวช

ก่อนอื่นอยากชวนพวกเรามารู้จักลักษณะพิเศษของเจ้าโรคจิตเวชที่ไม่เหมือนกับโรคทางกายทั่วๆไปกันเสียก่อน

โรคทางกายอื่นๆนั้น โดยปกติเกือบ 100% มีข้อกำหนดที่บ่งชี้อย่างชัดว่า ถ้าวัดอะไรได้ค่าเท่าไร ก็ถือว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ ตัวอย่างง่ายๆคือ พวกค่าความดันเลือด ค่าน้ำตาลในเลือด ค่าอุณหภูมิของร่างกาย หรือ บางลักษณะอาการที่ชัดเจน เช่น ปวดหัว บ้านหมุน อาเจียรพุ่ง เป็นลม หมดสติ น้ำมูกไหล จมูกแดง น้ำตาไหล ฯลฯ

โรคจิตเวชนั้นก็มีอาการระบุเช่นกัน ผมจะเจาะจงมาที่อาการของโรคสมาธิสั้นก็แล้วกันนะครับ เช่น เสียงดัง ขี้ลืม รอคอยไม่ได้ ซน อยู่ไม่นิ่ง กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่แข็งแรง เป็นต้น

เวลาพวกเราพ่อๆแม่ๆพาผู้ต้องสงสัยคือคุณลูกไปพบจิตแพทย์ ก็มักจะได้ทำ “แบบประเมิน” ซึ่งก็เป็นการตอบคำถามอาการต่างๆว่า มีอาการนั้นๆในแบบประเมินหรือไม่ มีมากน้อยแค่ไหน ก็มักจะมีระดับ (scale) ให้เลือก อาจจะเป็น 1-2-3 หรือ 1-2-3-4-5 เป็นต้น ในบางอาการก็อาจจะมีการให้ระบุความถี่บ่อยของอาการ เช่น กี่ครั้งต่อวัน กี่ครั้งต่อสัปดาห์

แล้วแค่ไหนหนูถึงจะโดนประทับตราว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น

คุณหมอก็จะมีเกณฑ์ตามมาตราฐานทางการแพทย์ว่าต้องมีกี่อาการร่วมกัน อาการไหนบ้าง และ ต้องมีในระดับเท่าไร อย่างไร ถึงเรียกได้ว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น

ทีนี้พอจะจับประเด็นอะไรได้ไหมครับว่า การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นต่างจากการวินิจฉัยโรคทางกายทั่วๆไปอย่างไร

อย่างแรกคือ เป็นการวินิจฉัยแบบใช้การประเมินว่า มีอาการนั้นๆไหม และ มีอาการหนักหนาสาหัสเท่าไร

อย่างที่สอง จากการวินิจฉัยแบบนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ พ่อแม่ลุงป้าน้าอา รวม 6 คน ที่เลี้ยงเด็กคนนี้มาด้วยกัน ทำแบบประเมินแล้วจะได้ผลออกมาไม่เหมือนกัน ในกรณีที่เด็กมีอาการไม่ชัดเจน หรือ เด็กมีอาการสมาธิสั้นแน่ๆ แต่ผู้หใญ่ 6 คนก็ประเมินระดับความสมาธิสั้นไม่เหมือนกัน

ซึ่งก็ไม่แปลกเลยครับ เพราะคนเราแต่ล่ะคน มีความสามารถในการ “วัด” ด้วย “ความรู้สึก” ที่แตกต่างกัน เอาแค่ว่า เสียงดัง ก็ไม่เท่ากันแล้ว คนหนึ่งว่าดัง อีกคนหนึ่งบอกก็ปกติ ยกเว้นในกรณีที่เธอเสียงดังแบบไม่ต้องสงสัย ใครๆก็ว่าดัง 555

ซึ่งการประเมินที่แตกต่างกันนี้ มีผลส่งไปถึงการเลือกวิธีการรักษา

ในฐานะที่เป็นวิศวกร ที่มักจะต้องทำงานอะไรอยู่กับการวัด มาตราฐาน ให้แน่นหนา ก่อนจะลงมือซ่อมแซมของชิ้นนั้นๆ ผมเคยปุจฉาเรื่องนี้กับคุณหมอจิตเวชท่านหนึ่ง คุณหมอท่านก็เมตตาเข้าใจประเด็นของผม

คุณหมอวิสัชชนาว่า ถูกต้อง ในกรณีที่อาการคาบเกี่ยว หรือ 50/50 นั้น ยากที่จะบอกลงไปชัดๆ แต่การรักษาเอาไว้ก่อนก็ไม่เสียหายอะไร โดยคำนึงถึงค่ามาตราฐานความรู้สึกของคนทั่วๆไปเป็นหลัก เพราะพ่อแม่ ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะทนลูกตัวเองได้มากกว่าคนทั่วไป หรือ มองลูกตัวเองในแง่ดีไว้ก่อน

เลือก คุณหมอจิตเวช

ในกรณีที่ไม่มีทางเลือก มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและทุนทรัพย์ เช่น อยู่ห่างไกลรพ.ศูนย์ หรือ ฐานะทางการเงินไม่อำนวย ประเด็นนี้อาจจะต้องข้ามไป

การรักษาโรคสมาธิสั้นนั้น ใหญ่ๆก็มีไม่กี่แนวทาง ซึ่งคุณหมอแต่ล่ะท่านมีแนวทางรักษาหลักๆใหญ่ๆที่ไม่ต่างกัน แต่ในขั้นตอนรายละเอียด การลองวิธีหรือยา ตามลำดับก่อนหลัง อาจจะต่างกันไปบ้าง

ก็คล้ายคลึงกับโรคทางกายแหละครับ หมอบางท่านเริ่มด้วยยาแรง บางท่านก็เริ่มด้วยยาอ่อน บางท่านให้ไปปรับพฤติกรรมการกินอยู่ออกกำลังกาย บางท่านสั่งตรวจเลือด เอ๊กซ์เรย์ MRI อัลตราซาวด์ ฯลฯ

ซึ่งความต่างตรงนี้แหละที่ทำคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านไม่เข้าใจ และ ประสบปัญหากับลูกๆ กับ คุณครูที่โรงเรียน หรือ แม้แต่ประสบปัญหาระหว่างคุณพ่อคุณแม่กันเอง และ รวมไปถึงญาติที่อาจจะอยู่ร่วมกันในบ้าน ในกรณีที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่

การรักษามันก็มีอยู่ไม่กี่วิธีใหญ่ๆ (ไม่ได้เรียงนะครับ) ใช้ยา ปรับพฤติกรรม ครอบครัว ชุมชน ก็มีเท่านั้น

คุณพ่อกับคุณแม่จะต้องคุยให้ตรงกันก่อนว่า มีความเชื่อ ไปในทางไหน เพราะถ้าคนหนึ่งมีความอดทนสูงไม่อยากใช้ยา หรือ ใช้น้อยๆ อยากลองวิธีอื่นๆควบคู่ หรือ เน้นวิธีอื่น อีกคนความอดทนต่ำอยากใช้ยาเร็วๆแรงๆ

ถ้าพ่อแม่ยังตกลงกันไม่ได้ ตีกันตาย แบบนี้หมอก็คงจะช่วยอะไรได้ไม่มาก เพราะเอาเข้าจริง คุณหมอก็จะวางแนวรักษา และ ระดับประเภทยา(ถ้าใช้ยา) ตามความสมัครใจ (ความทนได้) ของพ่อแม่ผู้ปกครองนั่นแหละ

พอตกลงกันได้ว่าจะวางแนวรักษาไปทางไหน จากนั้น ค่อยปรึกษา คุยกับคุณหมอ ดูแววว่าคุณหมอวางแนวทางไปทางเดียวกับที่เราเข้าใจ ถูกจริตเราไหม ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยน

ตัวอย่างง่ายๆที่ผมได้ฟังมาจากที่ปรึกษา คุณแม่ท่านหนึ่งเล่าว่า ตัวเองไม่อยากใช้ยาเท่าไร อยากลองปรับพฤติกรรม หารร.ที่เหมาะสม ถ้าไม่ไหว ค่อยใช้ยาแต่น้อย แต่คุณพ่อกลับเป็นคนชอบใช้ยาเป็นประจำกับโรคต่างๆทางร่างกายของตัวเอง ก็อยากให้ได้ผลเร็วๆ ก็อยากให้ใช้ยาเลย แบบนี้ก็ลำบากครับ

พอไปพบคุณหมอ คุณหมอเกิดเป็นประเภทที่ เริ่มต้นด้วยการใช้ยาก่อนเลย แบบนี้คุณแม่ก็อาจจะไม่ชอบ แต่ถูกใจคุณพ่อ

ผมกำลังจะบอกว่า ไม่มีถูกไม่มีผิด ทั้งคุณหมอ คุณแม่ และ คุณพ่อ

ประเด็นคือ คุณแม่ คุณพ่อ (หรือผู้ปกครอง) ต้องตกลงกันเองภายในครอบครัวเสียก่อน แล้วจึงเอาแนวทางที่ตกลงกันไปปรึกษาปรับแต่งให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์กับคุณหมออีกที

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจจะมองข้าม คือ เวลาของคุณหมอ คุณหมออกตรวจที่รพ.ไหนบ้าง บ่อยแค่ไหน ให้เวลาปรึกษาพอเพียงไหม นัดแทรกได้หรือเปล่า

เพราะ ในกรณีที่ต้องมีการปรับยา หรือ ผลการรักษาไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง ซึ่งก็มักจะเป็นแบบนั้น เพราะ คุณพ่อคุ๊ณแม่มักจะคาดหวังสูง และ การวัดผลการรักษาก็วัดด้วยความรู้สึกล้วนๆ ซึ่ง แน่นอน ก็จะมีอัคติ โดยเฉพาะจากคุณพ่อหรือคุณแม่ที่อาจจะปักธงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแรนวทางที่รักษา

ผลการรักษาไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง ก็มักจะต้องขอนัดพบ นัดแทรก ถี่ขึ้น บ่อยขึ้น ถ้าคุณหมอออกตรวจไม่กี่รพ. รพ.ล่ะไม่กี่วัน คลีนิคส่วนตัวก็ไม่มี แบบนี้ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาก็เป็นได้

เอาล่ะครับ ที่ผมเคยให้คำปรึกษาพ่อๆแม่ๆจากประสบการณ์ตรงของผมไปก็มีประมาณนี้ครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่พวกเราบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ

——————————

เขียนเรื่องการฝึกเด็กสมาธิสั้นเอาไว้ 2 ตอน ติดตามอ่านกันได้นะครับ

เทคนิคการฝึกเด็กสมาธิสั้น

Scroll to Top