แด่เธอ ผู้หญิงคนที่ตายแทนผมได้ แม้ผมจะไม่ต้องการ

แด่เธอ … ผู้หญิงคนที่ตายแทนผมได้ แม้ว่าผมจะไม่ต้องการ … เธอ … ผู้หญิงที่สวยที่สุดตลอดกาลของผม

แด่เธอ …

เมื่อ 45 ปีมาแล้ว มีผู้หญิงธรรมดาๆคนหนึ่ง …

เธอ … จากบ้านของเธอในเมืองหลวง … จากไปตัวคนเดียว

เธอ … หวังว่าจะไปอยู่กับผู้ชายคนที่เธอรัก

เธอต้องไปอยู่ในดินแดนที่กันดารเกือบจะที่สุดของประเทศ

ในดินแดนที่แตกต่างไปทั้งวัฒนธรรม ภาษา ความเป็นอยู่ และ ศาสนา (ของครอบครัวผู้ชายคนนั้น)

1 ปีต่อมา …

… ลูกคนแรกของเธอ … เป็นผู้ชาย …

… ลูกคนแรกของเธอ … เกิดมาในจังหวัดหนึ่งริมฝั่งโขง (*)

… แม้จะแต่งงาน แต่เธอก็ไม่ได้อยู่กับชายที่เธอรัก

… ด้วยเหตุแห่งอาชีพข้าราชการตัวเล็กๆที่ไม่มีเส้นสายโยกย้ายได้อย่างใจ

เธอตั้งชื่อลูกชายคนแรกด้วยพยางค์หน้าของชื่ออำเภอที่ชายคนรักรับราชการอยู่ในตอนนั้น และ ตามด้วยสองพยางค์แรกของชื่อจังหวัดที่เธอรับราชการอยู่เช่นกัน

… ชื่อลูกชายคนแรกของเธอ … ไม่มีในพจนานุกรมฉบับใดๆ

… ชื่อลูกชายคนแรกของเธอ … ที่ 44 ปีถัดมาก็ยังไม่เคยมีใครสะกดหรือออกเสียงถูกในครั้งแรก แม้แต่ครูภาษาไทย หรือ อักษรศาสตร์บัณฑิต (**)

… ชื่อลูกชายคนแรกของเธอ … มีความหมายที่รู้กันอยู่แค่ “เราสามคน” … เธอ กับ ชายคนรัก และ ลูกชายหัวปีของเขาทั้งสองคน

แต่นั่นก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ … แค่สำหรับเราสามคนก็พอ …

เธอตั้งชื่อลูกๆอีก 3 คนถัดมาของเธอด้วยวิธีเดียวกัน
ต่างไปก็แต่ชื่อจังหวัดและอำเภอที่มาประกอบกัน

(เธอมีวัตถุดิบในการตั้งชื่อมากมาย เนื่องจากชีวิตข้าราชการที่เร่ร่อนของเธอและชายที่เธอรัก)

… ไม่มีใครสะกดหรือออกเสียงชื่อลูกๆเธออีก 3 คนได้ถูกในครั้งแรกเช่นกัน

… ความหมายของชื่อในพจนานุกรมไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเธอ

… เธอบอกลูกๆว่าไม่จำเป็นให้ใครรู้ว่าชื่อพวกเขาหมายความว่าอะไร

… คำแปลและความหมายสำคัญอยู่แค่ “ครอบครัวของเรา” ก็พอ …

หลายคนที่ได้ยินชื่อลูกทั้งสี่ของเธอ บอกว่าเธอต้องเป็นครูภาษาไทย หรือ อักษรศาสตร์บัณฑิต …

… เธอ เป็น ครูสอนเลข

… เธอ เป็น แค่ครูสอนเลขในโรงเรียนอาชีวะบ้านนอกที่ไกลปืนเที่ยง

… เธอ จบ แค่วุฒิครูสมัยนั้นที่ในพ.ศ.นี้เรียกว่า “อนุปริญญา”

… เธอ คือ แม่ที่ไม่มีปริญญาตรีของครอบครัว “เด็กบ้านนอก 4 คน” …

อายุของลูกทั้งสี่ของเธอที่ห่างกันคนล่ะ 2 ปีพอดิบพอดีเป็นสิ่งเดียวที่พิสูจน์ว่าเธอคือครูสอนวิชาคณิตศาสตร์

10 กว่าปีถัดมา …

ด้วยเหตุผลของการศึกษาของลูกๆทั้งสี่ และชีวิตราชการของเธอกับชายที่เธอรัก เธอต้องพาลูกทั้งสี่ของเธอมาอยู่บ้านเล็กๆชานเมืองหลวง

ด้วยปากท้องและเงินเดือนข้าราชการครูจนๆรวมกับของชายคนรักที่เป็นนักกฏหมายของรัฐ (ซึ่งก็ไม่มากกว่าของเธอเท่าไร) มันบังคับให้เธอต้องสอนรอบค่ำเพิ่มพิเศษที่รร.อาชีวะชานเมืองหลวง

… ชานเมืองที่สมัยนั้นเราเรียกแถวนั้นว่า “ต่างจังหวัด”

… เธอกลับถึงบ้านในซอยเปลี่ยวสามทุ่มครึ่งทุกวัน

ในพ.ศ.ที่ไม่มีกับข้าวถุง ไม่มีกล่องโฟม ไม่มี 7-11 ค่ารถเมล์ 50 สตางค์ และค่ารถสองแถวเข้าซอยชานเมืองสลึงเดียว

ลูกชายคนโตวัย ม.4 ที่ควรจะได้แตะบอลหลังเลิกเรียน ต้องรีบแวะตลาดสด เดินตัวเอียงกลับบ้าน พร้อมถุงกับข้าวสดและกระเป๋านักเรียน

… เธอหัดทุกอย่างให้ลูกๆของเธอ … “อยู่รอด”

… เผื่อว่าจะมีวันหนึ่ง วันที่เธอกลับไม่ถึงบ้าน

คนโตจ่ายกับข้าวสดวันเว้นวันที่แผงผัก ปลา และเขียงหมูในตลาดสดที่เธอพาไปแนะนำไว้ก่อนในทำนองว่า “ลูกชั้นนะ อย่าโกงตาชั่ง” ในขณะเดียวกันเธอก็สอนให้รู้การโกงตาชั่งและเล่ห์กลอื่นๆในตลาดสด (วิชา TMS 101 – Traditional Thai Market Shopping and Advance Negotiation Skill)

แน่นอนว่าเธอสอนให้ลูกเธอรอบคอบด้วยการตรวจเงินทอนและค่ารถ … ทุกสลึง

… ถ้าไม่ครบแปลว่าค่าขนมในวันรุ่งขึ้นก็จะน้อยลงเป็นสัดส่วนกัน

… และที่ต้องจ่ายกับข้าวสดวันเว้นวันเพราะ “ตู้เย็น” ถูกจัดว่าเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยสำหรับครอบครัวเธอ

… มิพักต้องกล่าวถึงโทรทัศน์ที่ไม่เคยมีดู

ลูกชายคนโต (ม.4) จ่ายตลาดทำกับข้าวทุกเย็นตามวิธีที่เขียนแปะไว้หน้าเตาแก๊ส (ฝรั่งเรียก Mother Recipe)

ลูกสาวคนรอง (ม.2) ล้างจาน

ลูกชายคนที่สาม (ป.6) จัดสำรับตั้งและเก็บกวาดโต๊ะอาหาร

ลูกชายคนสุดท้อง (ป.4) ถูพื้นครัว

ลูกๆของเธอ … ไม่มีใครเลือกกิน หรือ บ่นว่าไม่อร่อย เพราะนั่นหมายความว่า “งั้นก็ไม่ต้องกิน”

เธอให้มีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง (promotion) ทุกๆ 2 ปี เพราะว่าลูกคนที่จ่ายตลาดและทำกับข้าวครบ 2 ปี จะอยู่ ม.6

เธอจึงอนุญาติให้คนจ่ายตลาดและทำกับข้าวมาถูพื้นครัว เพื่อจะได้มีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบเอ็นทรานซ์
แล้วเลื่อนคนอื่นๆถัดขึ้นไปตามลำดับ …. (ที่สมัยนี้เราเรียกว่า Internal on-the-job cross training)

เธอมักแอบเอาเศษผงไปโรยไว้ใต้ของต่างๆเพื่อตรวจดูว่าลูกๆได้ยกของออกแล้วเช็ดอย่างสะอาดตามที่สอนหรือไม่

วิชาการบริหารจัดการของ Sloan Business School แห่ง MIT เรียกว่า Continuous Monitoring and Improvement

… แต่พวกเราทั้งสี่คนไม่เคยพลาด …. (ให้โดนจับได้)

วันเสาร์อาทิตย์จะเป็นวันที่บ้านเธอเหมือนโรงละคร แต่เป็นโรงละครที่ไม่มีพระเอก ไม่มีนางเอก มีแต่ตัวประกอบ(อดทน)

มีเธอเป็นผู้กำกับ (ปากเปียกปากแฉะ) เพราะตัวละครทั้งสี่ที่ไม่สามารถจำบทได้เสียที

เธอสอนให้ลูกๆเธอทุกคนซักผ้า รีดผ้า ของตัวเอง แม้แต่คนสุดท้องที่แค่ ป.4 (สมัยนั้นยังไม่มีกฏหมายคุ้มครองแรงงานเด็ก หรือ NGO พิทักษ์สิทธิเด็กเกลื่อนเมืองเหมือนสมัยนี้)

เธอต้องประหยัดน้ำ และไฟฟ้า … ไม่ใช่เพราะเธออยากอนุรักษ์พลังงาน แต่เพราะ “ความจน”

ลูกๆทั้งสี่คนต้องซักผ้า เก็บผ้า รีดผ้า อย่างพร้อมเพรียงเรียงลำดับเป็นงานอนุกรมที่ต้องไม่มีคอขวด (CPM – Critical Path Management)

เธอกำจัดคอขวดออกไปด้วยวิธี … ที่เธอไม่รู้ว่าที่ Harvard Business School ต้องเรียนกันถึงปริญญาเอก

เธอกำจัดคอขวดออกไปด้วยวิธี … ของคนที่จบแค่อนุปริญญาของกรมอาชีวะแห่งสารขัณธ์ประเทศ

วิธีที่ลูกชายคนโตของเธอพบในเวลาต่อมาว่าเป็นวิธีเดียวกับที่เรียนกันแทบตายที่ Business School of Standford

บนเวทีละครวันเสาร์อาทิตย์ ลูกๆทั้งสี่คนต้องบริหารจัดการเวลาและทรัพยากรที่มีจำกัดให้สอดคล้องกัน (โดยเธอเป็นผู้กำกับ) ถ้าเป็นวิชาการบริหารจัดการสมัยนี้ เราจะเรียกวิธีของเธอว่า การประหยัดเนื่องจากขนาด (Economy of Scale)

แต่เธอเรียกว่า เหมาโหลถูกกว่า

เธอเป็นคนที่สอนให้ลูกๆทั้ง 4 คน รู้จักคำว่า Synergy โดยการปฏิบัติ (ทั้งๆที่ตอนนี้เธอก็ยังไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร)

ทรัพยากรน้ำ และ ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมากๆ ก่อนกระแสรักษ์โลก กระแสสีเขียว และ ภาวะโลกร้อน ระบาดอย่างพ.ศ.นี้ ไม่ใช่เพราะเธอรักษ์โลกหรือคลั่งกระแสสีเขียว

… แต่เพราะเงินเดือนข้าราชการจนๆกับปากท้องและค่าเล่าเรียนของคนที่เธอตายแทนได้ทั้งสี่คนในหลังคาบ้านเล็กๆของเธอ

รู้จักความรู้สึกว่า “อบอุ่น” “ปลอดภัย” และ “มั่นคง” เป็นอย่างไร ก็เพราะเธอ …

เพราะ “บ้าน” มีความแตกต่างกัน ในวันที่ “มีเธอ” หรือ “ไม่มีเธอ”

แม้จะหนวกหู และรำคาญเสียงเธอบ่น แต่ก็รู้สึก “อบอุ่น” “ปลอดภัย” และ “มั่นคง”

ทฤษฎีขั้นความต้องการของมาร์สโล (Maslow’s hieararchy of needs) คืออะไร … เธอไม่รู้จัก
ซิกมุนฟรอยด์เป็นใคร Psychoanalytic Theory คืออะไร … เธอก็ไม่รู้

… แต่เธอทำให้เราทั้งสี่คนมีได้ครบทุกอย่างที่มาร์สโลและฟรอยด์ตั้งทฤษฎีไว้

เธอไม่รู้ว่า Reuse Recycle Re-Engineering คืออะไร
แต่เคยได้ยินป้าข้างบ้าน(นินทา)ว่า หมาจะอดตายถ้ามัวแต่รอของเหลือในถังขยะบ้านเธอ

บ้างก็ว่า คนรับซื้อของเก่าไม่รับซื้อของบ้านเธอ เพราะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้อีกแล้ว

เธอสอนลูกชายทั้ง 3 คนให้ดูในถังขยะบ้านของหญิงที่จะเลือกมาเป็นแม่ให้หลานของเธอ

หญิงคนนั้นและครอบครัวอาจจะตบตาลูกๆของเธอได้บนโต๊ะดินเนอร์มื้อหรู แต่ของในถังขยะบ้านหญิงคนนั้นจะบอกถึงลักษณะนิสัย ความเป็นอยู่ และ วิถีการใช้ชีวิต

เธอบอกว่า “ถังขยะโกหกไม่เป็น

เธอสอนว่า งานบ้านไม่มีคำว่า งานผู้ชาย หรือ งานผู้หญิง

ลูกชายของเธอทั้ง 3 คน จ่ายตลาดสด ทำกับข้าว ซักรีด ล้างส้วม เย็บจักร ถักโครเช ถักนิตติ้งเป็น และ ซักกางเกงในเธอได้

ลูกสาวคนเดียวของเธอ เปลี่ยนหลอดไฟ ซ่อมท่อน้ำ เดินสายไฟ ตอกตะปู ปะยางรถ ซ่อมจักรยาน และ เครื่องใช้ในบ้านเป็น

เธอ … ผู้มีวุฒิการศึกษาสูงสุดแค่อนุปริญญาของกรมอาชีวะศึกษา

เธอสร้าง … เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาไฟฟ้า หนึ่งคน

เธอสร้าง … เนติบัณฑิตไทย หนึ่งคน

เธอสร้าง … (ว่าที่)นายพลแห่งกองทัพอากาศไทย อีกหนึ่งคน

… ลูกๆทุกคนของเธอเป็นมหาบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ

… ในบริบทของความเป็นครู เธอไม่ได้เป็นแค่ครูสอนเลข เธอเป็นครูสอนวิชา “ชีวิต”

… วิชา “ชีวิต” … วิชาที่ใช้พื้นที่การเรียนการสอนกว้างแค่วงกอด และ ยาวเพียงอ้อมแขนของเธอ …

ในพ.ศ.ที่ประเทศนี้ไม่รู้จัก EQ (Emotional Quotient) หรือ EI (Emotional Intelligence)

เธอสร้าง … คนสี่คนที่พวกเขาสามารถมีความสุขได้ในทุกวัน

เธอสร้าง … คนสี่คนที่รับมือได้กับทุกโชคชะตาที่จะเข้ามาในชีวิตของพวกเขาด้วยรอยยิ้ม ด้วยความเชื่อมั่น ความหวัง ความรัก และ ความศรัทธา

โลก และ ความมั่นคงของอาณาจักรใดๆไม่อาจสร้างได้ด้วยมือที่แข็งกร้าว มีด ปืน ดาบ หรือ หน้าไม้

… หากแต่สร้างได้ด้วยสองมืออ่อนนิ่มที่ไกวแปล

อีก 6 ฤดูฝนผ่านไป …

ด้วยวัยที่เพิ่งจบกับเงินเดือนหกหลักในปี พ.ศ. 2532
หนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่งในยุคนั้นเรียกลูกชายคนโตของเธอว่า “วิศวกรเลี่ยมทอง”

ลูกชายคนนั้นขอให้เธอเลิกสอนหนังสือ เลิกทำงาน พักผ่อน ไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อไป

… เธอก็ยังสอนรอบค่ำและกลับบ้านดึก จนวันสุดท้ายของชีวิตข้าราชการครูจนๆ

(2 ปีสุดท้าย เพราะทนเสียงบ่นของลูกๆไม่ไหว เธอยอมไม่สอนรอบค่ำ แต่ยังดื้อที่จะสอนรอบบ่าย)

วันหนึ่ง … ลูกชายคนนั้นให้เงินมากพอให้เธอไปเที่ยวรอบโลกได้สบายๆ 2 รอบ เพื่อให้เธอได้ไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง

… แต่เธอพอใจที่จะไปเที่ยวแค่จังหวัดที่เธอให้กำเนิดเขามา (***) … เธอไปด้วยรถไฟแทนที่จะขึ้นเครื่องบิน

แต่เธอชอบอวดเพื่อนๆที่โรงเรียนว่า แว่นตานี้ลูกชายคนนั้นซื้อให้ ลูกคนนี้ติดแอร์ให้นอน ลูกคนโน้นออกค่ารักษารากฟัน ฯลฯ

ชีวิตนี้ของเธออยู่กับแค่ความสุขเล็กๆและเรียบง่าย หรือเป็นเพราะว่า พวกเราคือความสุขของเธอ

ในวันที่ลูกชายคนโตของเธอโผออกไปสร้างรังเล็กๆของตัวเอง

เธอสอนให้เขารู้ว่า “เพราะเราเคยเป็นคนคนเดียวกัน” (****)

จะอีกกี่ชีวิตเขาก็ไม่อาจทดแทนน้ำนมเพียงหยดเดียวจากอกของเธอได้

เพราะเธอคือ … ผู้หญิงคนหนึ่ง เธอ … คนที่ตายแทนผมได้ แม้ว่าผมจะไม่ต้องการ …

… แด่เธอ

เขียนไว้ … โดยลูกชายคนโตของเธอ

เขียนถึง … “เธอ” ผู้เป็น “แม่” ของเขาในบ่ายของวันธรรมดาๆวันหนึ่งที่เขาคิดถึงเธอ

“แม่ครับ … ผมรักแม่”

พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร
17.40 น.
เสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554

==================================

(*) จังหวัดที่หลายปีต่อมาถูกแบ่งออกไปเป็น 3 จังหวัด (รวมจังหวัดเดิมด้วย)

(**) 30 ปีถัดมา … วันที่ลูกชายคนโตตั้งชื่อให้กับหลานสาวคนแรกของเธอจากคู่มือตั้งชื่อเด็ก

เขาทราบว่าชื่อของเขามีอักษรที่เป็นกาลกิณี(ไม่เป็นมงคล) กับชีวิตอยู่ถึง 4 ตัว (ตามคู่มือนั้น) … แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนมัน … เพราะมันเป็นสิ่งเตือนใจเขาทุกครั้งที่เขียนชื่อตัวเองว่า “แม่กับพ่อของเขาเป็นใครอยู่ที่ไหน” ในวันที่เขาลืมตาดูโลก

(***) ส่วนเงินที่เหลือ หลายปีต่อมา ลูกชายคนโตเธอแอบไปรู้ว่า เธอเอาไปดาว์นและผ่อนคอนโดฯเล็กๆไว้ในชื่อของเขา

(****) คลิ๊ก ==> เพราะเราเคยเป็นคนคนเดียวกัน แล้วคุณจะพบว่าเธอสอนอะไรลูกชายคนโตของเธอในวันสำคัญของเขา

เด็กบ้านนอก 4 คน … มรดกที่เธอสร้างไว้ประดับโลกเบี้ยวๆใบนี้ …

… นิติกรผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านกฏหมายภาษีประจำกรมถอนขนห่าน แห่งกระทรวงวายุภักษ์

(จิตใจดอกบัวคือความหมายของชื่อเธอ เนติบัณฑิตไทย นิติศาสตร์มหาบัณฑิต ลูกพ่อขุนฯ … ผู้ถือคติประจำใจ มีลูกกวนตัวมีผัวกวนใจ)

… ลูกทัพฟ้า … มหาบัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ AIT นาวาอากาศเอก รองศาสตราจารย์ แห่งกองทัพอากาศไทย

(ชื่อเขาแปลว่านักรบแห่งมหานที แต่ดันผ่าอยากขับ F16 และ ยังครวญเพลง “ทหารอากาศขาดรัก”)

… อีกหนึ่งคนที่ชื่อแปลว่า “ผู้ชายคนสุดท้าย” … แต่เขาได้ล่วงหน้าไปช่วยคุณปู่น้องเฟิร์นและน้องภัทร ดูลู่ทางจับจองที่บนสวรรค์รอผู้เขียนและพี่ๆ

(ได้ข่าวว่าทำเลดีๆบนนั้นราคาแพง จองไว้ให้พี่แปลงนึงนะ … น้องรัก … วันหนึ่งพี่ๆจะตามไปทำกับข้าวที่ชอบให้กิน แล้วเราจะได้อยู่ด้วยกัน … อีกครั้ง)

และ … วิศวกรลูกพระจอมฯ ศิษย์แม่โดม พุงโลหัว(ใกล้)ล้าน เดินดินกินข้าวแกงข้างถนน โหนรถเมล์เกาะ MRT ไปทำงาน กลับบ้านรบกับยัยเด็ก ADHD ทุกเย็น (จนกว่าจะสิ้นกรรมไปจากกัน)

แด่เธอ

ปล. ชายคนรักของเธอก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

เรื่องเล่าและวีรกรรมของเขามีมากมาย แต่บนอัขระเวทีนี้ และในวันนี้ผมอยากให้เธอเป็นนางเอก … (พ่อ … ผมรักพ่อนะครับ …)

My daddy ผมถาม “พ่อไม่กลัวหรือ” พ่อตอบ “ถ้าพ่อไม่ทำแล้วใครจะทำ”

My daddy ผมถาม “พ่อไม่กลัวหรือ” พ่อตอบ “ถ้าพ่อไม่ทำแล้วใครจะทำ”
Scroll to Top