Good Doctor ให้เด็กพิเศษพึ่งตัวเอง (ได้แค่ไหน) … ประสบการณ์ตรง

Good Doctor ให้เด็กพิเศษพึ่งตัวเอง (ได้แค่ไหน) … ประสบการณ์ตรง – อันเนื่องมาจากการที่ต้องทำงานที่บ้าน ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น (แปลว่า ปกติมันก็ไม่มีงานทำ 555) ก็เลยต้องหาอะไรทำ

หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำ เพราะเคยมีกัลยาณมิตรเตือนไว้ว่า อย่าได้ลองเสพเชียวนะ(มึง) ติดได้ง่ายๆ ติดง่ายกว่าติดยาบ้าหรือเฮโรอีนอีก

สิ่งนั้คือ ซีรีย์เกาหลีครับ 🙂

ไล่ดูอย่างสนุกสนาน จบไปหลายเรื่องล่ะ Vegabond, Secretary kim, Curator, GOT (แถมฝรั่งเรื่องนึง), Itaewon, Hospital play list

ตอนนี้ติดงอมแงม ล่าสุดที่กำลังดู แต่ยังไม่จบคือ Good Doctor (นางเอกหน้าเหมือนน้องป๊อบ นางสาวไทยเราเลย)

Good Doctor

ให้เด็กพิเศษพึ่งตัวเอง (ได้แค่ไหน) … ดูละครแล้วย้อนดูตัว

https://en.wikipedia.org/wiki/Good_Doctor_(South_Korean_TV_series)

Good Doctor

มีเนื้อความตอนหนึ่งในละครที่อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ตรงกันครับ …

“น้องชายของตัวละครหนึ่งมีภาวะพิการทางสมอง แต่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี จนสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ พี่ชายบอกพ่อแม่ว่าให้น้องชายเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวได้แล้วนี่ เป็นความรักปราถนาดีที่อยากฝึกให้น้องชายมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ฉากต่อไป น้องชายพยายามเดินข้ามถนน 8 เลน (ไป 4 กลับ 4) กลางกรุงโซล แล้วเกิดอาการทางสมองขณะข้ามถนน … จึงถูกรถชนเสียชีวิต

พี่ชายเลยฝังใจว่าตัวเองเป็นคนผิด ทำให้น้องชายตาย จึงฝังใจเรื่อยมาว่า คนพิเศษที่มีอาการทางสมอง ควรจะอยู่ในที่ๆของตัวเอง มีการปกป้องคุ้มครองช่วยเหลือป้องกันตลอดเวลา ไม่ควรออกมาใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป

พี่ชายคนนี้(ต่อมาเป็นหมอศัลยกรรมเด็กที่เก่งมาก)จึงไม่ยอมรับพระเอกซึ่งเป็นหมอฝึกหัดที่มีอาการทางสมองคล้ายๆกับน้องชายที่มีความฝันจะเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดเด็ก ด้วยความหวังดีว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวพระเอกเอง และ ต่อตัวคนไข้”

เนื้อเรื่องสำคัญที่ผมจะชวนคุยมีเท่านี้ครับ …

เท่าที่ผมเจอมาด้วยตัวเองเวลาจะฝึกยัยเฟิร์น หรือ ปล่อยให้เธอทำอะไรเองนั้น จะมี 2 เสียงที่ให้คำปรึกษาเสมอๆ คือ สนับสนุน และ คัดค้าน

ทั้งสองเสียงนั้น รัก และ หวังดี ต่อ ผม และ เธอทั้งนั้น แต่มุมมองและวิธีคิดต่างกัน เหมือนหมอในเรื่องข้างต้น

แต่นอนว่าการฝึกให้ทำอะไรสักอย่าง มีความเสี่ยงทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะฝึกคนปกติ หรือ คนพิเศษ

หัดเด็กปกติว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ขึ้นแท๊กซี่ โดยสารรถเมล์ประจำทาง หรือ แม้แต่ข้ามถนน ก็มีความเสี่ยง ผลีผลามไม่ฝึกไม่สอน ปล่อยไปเลย ก็โดนรถชนตาย จมน้ำตาย เอาได้ง่ายๆเหมือนกัน … จริงไหมครับ

การไม่สอนให้ขึ้นแท๊กซี่ เพราะกลัวว่าเด็กจะแอบขึ้นแท๊กซี่เองโดยไม่ขอบอก แล้วจะเป็นอันตราย ก็เหมือนกับ ไม่สอนให้ใช้มีดหั่นผักทำกับข้าว เพราะกลัวว่าจะไปหั่นผักทำกับข้าวเองโดยไม่บอกแล้วมีดบาดมือ

แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุฉุกเฉิน เด็กจำเป็นต้องขึ้นแท๊กซี่ด้วยตัวเองล่ะ จะให้เด็กไปเรียนรู้เอาตอนฉุกเฉินนั้นเลยหรือ ถ้าพลาดไปไรไปก็จะฉุกเฉินซ้อนฉุกเฉินนะซิ

ทั้ง 2 แนวคิดนี้ ทั้งป้องป้องคุ้มครอง กับ ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเอง เหมือนดาบสองคมทั้งคู่ครับ

คำตอบ(ในมุมมองของผม)

ซ้อม – ทดสอบ – ซ้อม – ทดสอบ – ไปเรื่อยๆ ครับ

เราคนเป็นพ่อเป็นแม่ ย่อมรู้ดีว่าลูกเด็กพิเศษของเราสามารถทำอะไรได้แค่ไหน เลือกกิจกรรมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของลูกในอนาคตมาสักอย่างหนึ่ง แบ่งเป็นขั้นตอนสั้นๆ ย่อยๆ แล้วซ้อมบ่อยๆ

พอลูกเราทำได้แล้ว ค่อยขยายความยากออกไปทีล่ะนิดๆ ขั้นไหนยังไม่ผ่านก็ซ้ำๆ จนกว่าจะผ่าน ค่อยไปต่อ แต่ถ้าไม่ผ่านจริงๆ ก็ให้รู้ไว้ว่า เราเจอข้อจำกัดของสมองเขาแล้ว (technical limit) ให้ทำใจ และ หาตัวช่วย

ไม่ใช่ว่า โดดเข้าหาตัวช่วยเลยโดยไม่หัด จะทำให้เขาเสียโอกาสที่จะได้หัดทำด้วยตัวเองเหมือนคนปกติ (เดี๋ยวมีตัวอย่าง)

ตัวอย่างง่ายๆเลยที่ผมเคยฝึกยัยเฟิร์นคือการข้ามถนน

เริ่มจากถนนเลนเดียวหน้าบ้านนั่นแหละ จูงมือข้ามก่อน หลายสิบครั้ง แล้วให้เดินเอง อีกหลายสิบครั้ง จนแน่ใจว่าได้

แล้วก็ขยับไปเป็น 2 เลน เลือกที่รถไม่เยอะ ซ้อมไปอีกสิบๆครั้ง จนตอนนี้เธอข้ามถนน 6 เลน (ไป 3 กลับ 3) แบบมีเกาะกลางถนนได้เองแล้ว เป็นต้น

ฝึกกันเป็นร้อยๆครั้ง ใช้ถนนหลายแบบมากๆ เคล็ดลับคือ เริ่มง่ายๆ ค่อยๆเพิ่มความยาก ไม่ได้ก็ไม่ผ่าน ซ้ำมันอยู่นั่นแหละ

หนทางสู่วันที่ดีกว่า ตอนที่ 1 (นับเงินทอน) … หัดเด็ก สมาธิสั้น จิตเภท ย้ำคิดย้ำทำ

หนทางสู่วันที่ดีกว่า ตอนที่ 1 (นับเงินทอน) … หัดเด็ก สมาธิสั้น จิตเภท ย้ำคิดย้ำทำ

ล่าสุดนี้ยัยเฟิร์นอยู่คอนโดฯคนเดียวได้แล้ว 100% ไปทำงาน ดูแลห้อง เดินทาง จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ทำอาหาร (หรือซื้อกิน) ไม่ลืมกุญแจห้อง ฯลฯ อะไรที่จำเป็นที่คนอยู่คอนโดฯจำเป็นต้องทำได้ เธอก็ทำได้แล้ว(แบบขั้นต่ำ คือ ทำได้ แต่ไม่เรียบร้อยมาก)

แต่กว่าจะได้ถึงขนาดนี้ก็ฝึกกันนานมากอยู่เหมือนกัน แน่นอนว่า หลายอย่างผมและเธอก็เจอ ข้อจำกัดของสมองเธอ (technical limit) ก็ต้องหาตัวช่วยไปไรไป

เรื่องตัวช่วย ตัวอย่างง่ายๆคือ เธอคิดเลขในใจไม่คล่อง(ในระดับคนปกติ) ฝึกอย่างไรก็ได้ระดับหนึ่ง อาจจะไม่พอในชีวิตประจำวันที่ต้องซื้อของทอนเงิน ก็หาเครื่องคิดเลขให้ หรือ กล้ามเนื้อมัดเล็กเธอไม่ค่อยดี ฝึกอย่างไรก็ดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่พอที่จะใช้ที่เปิดกระป๋องนมได้ทุกแบบ ก็ต้องซื้อที่เปิดกระป๋องนมแบบพิเศษที่เปิดได้ง่ายๆมาให้เธอใช้ เป็นต้น

กลับไปที่ซีรี่ย์ … หนังไม่ได้บอกว่าพี่ชายได้ฝึกน้องชายให้ข้ามถนนไหม ผมก็เดาว่าไม่ จู่ๆให้เด็กแบบนั้นไปข้ามถนน 8 เลน กลางเมืองหลวงนะ (ก็เข้าใจว่าซีรี่ย์ต่องมีดราม่า) ก็ไม่รอดหรอก จริงไหมล่ะครับ แล้วพี่ชายก็เอาความฝังใจนี้มาใช้กับคนรอบข้าง รวมถึงใช้กับพระเอกด้วย

ในความเป็นจริง เราก็ไม่รู้ว่าคนที่มีอาการทางสมองจะผ่าตัดเด็กได้ไหม แต่ก็ต้องให้ค่อยๆลองไปทีล่ะคืบๆ อาจจะเริ่มจากสัตว์ก่อน อะไรแบบนี้ ถ้าผ่าตัดสัตว์ยังไม่ได้ ก็จบ ไม่ต้องไปต่อ

เหมือนที่ผมฝึกยัยเฟิร์น หลายๆอย่างเธอก็ไปต่อไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ แต่ก่อนจะยอมรับ และ หาทางเลือกอื่น ก็ต้องให้โอกาสพยายามทำให้เต็มที่ก่อน ไม่ใช่ด่วนตัดสินใจจากประสบการณ์ตัวเอง หรือ ประสบการณ์คนอื่น

ส่งท้าย …

ไม่มีอะไรง่ายครับ ต้องรัก และ อดทน อย่างเดียวเลยครับ ท่องเอาไว้ ไปทีล่ะคืบๆ ล้มก็ลุกขึ้นมาใหม่ อย่าตั้งเป้าสูง แต่อย่าหยุด เท่านั้นเองครับ

ผมไม่ได้บอกว่าทำตามนี้แล้วคุณจะพาลูกคุณไปถึงจุดที่คุณอยากจะไปให้ถึง แต่ผมรู้อย่างหนึ่งว่า ถ้าคุณไม่หยุด คุณจะไปได้ไกลจากจุดที่คุณและลูกคุณอยู่เมื่อวานแน่ๆครับ

Scroll to Top