Love in Truth or Truth in love ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่อธิบายยาก

Love in Truth or Truth in love ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่อธิบายยาก – เมื่อสองสัปดาห์ก่อน (วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563) ไปพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณ ที่วัดน้อย*ในโรงเรียนปัจจทรัพย์(ดินแดง) คุณพ่อ**ที่เป็นประธานในพิธีเทศน์ได้ทันสมัย และ โดนใจมากๆ อยากจะนำมาเผยแพร่แบ่งปัน

ผมจดไว้ไม่ทัน บันทึกเสียงไว้ก็ไม่ทัน ต้องติดต่อถามหาคนในพิธีที่อาจจะบังเอิญอัดเสียงในพิธีไว้ ก็ได้ไฟล์เสียงมาสมใจอยาก เนื่องด้วยภาระกิจต่างๆมากมาย ก็เพิ่งได้ว่างถอดเทปเอาก็วันนี้

เอามาแบ่งปัน พร้อมคำขยายความตรงดอกจันกำกับตามสมควรไว้ที่นี่นะครับ

Love in Truth

Love in Truth or Truth in love

ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่อธิบายยาก

พระวรสารบทอ่านพูดถึงพระยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าเล่าเรื่องเปรียบเทียบ ที่บอกว่า คนใช้ไปถามว่า มันมีข้าวละมานกับข้าวสาลี ก็คือ ข้าวดีกับข้าวไม่ดี ปนกันอยู่ เราจะทำอย่างไรดี

เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของความยุติธรรม ในบทอ่านที่ 1 เราได้ฟังว่า พระเป็นเจ้าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม แต่พี่น้อง ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่อธิบายยาก

ถ้าพ่อถามพี่น้องว่าความยุติธรรมตามที่เราเข้าใจเป็นอย่างไร พ่อเชื่อว่าทุกคนก็ตอบได้ว่า ถ้ามีคนทำผิด คนนั้นก็ต้องรับโทษ แต่การรับโทษ จะช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คนบางคนโดนทำโทษ ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ดังนั้น จึงมีคำถามว่า การลงโทษเป็นวิธีการที่ดีที่สุด สำหรับการทำให้คนๆหนึ่ง ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่

คำตอบก็คือ เป็น และ ไม่เป็น สำหรับบางคน การถูกทำโทษ ทำให้เขาจำแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่สำหรับบางคน ไม่จำและไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง

แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น สิ่งที่พระเยซูเจ้าตอบก็คือ ปล่อยให้คนดี และ คนชั่ว เติบโตไปด้วยกัน จนกว่าจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว** *พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าต้องการบอกอะไรกับเรา

พ่อพยายามจะยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีคนๆหนึ่งในสังคม พ่อชวนพี่น้อง นึกภาพของสังคมโดยรวม

ถ้ามีคนๆหนึ่งในสังคมทำผิดแล้ว แล้วสังคมลงโทษเขา ทุกวันนี้เราจะได้ยิน โลกโซเชียล ใช่ไหมครับ ประณามคนโน้นทีคนนี้ที เป็นการกล่าวโทษ ลงโทษ แบบไม่เจอหน้า เป็นใครก็ไม่รู้ ประกาศคำลงโทษทันที

พี่น้อง บางครั้งเราก็ต้องระวังการใช้โลกโซเชียลของเราเหมือนกัน บางครั้งเราประกาศคำตัดสินให้กับคนที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร ภูมิหลัง มันมีเงื่อนไขอะไร ที่ทำให้เขาตัดสินใจทำเรื่องบางเรื่อง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ตัดสินเขาเลยทันทีว่าเขาเป็นคนเลว คนชั่ว คนไม่ดี ต้องกำจัดออกจากสังคมของเรา

ถามว่า สิ่งที่ถ้าเราทำแบบนี้ เราทำถูกไหม

เราทำถูกส่วนเดียว เราไม่ได้ผิดหมดนะ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเรา โดยมาตราฐานศีลธรรมของเรา เราตัดสินว่าการกระทำใดการกระทำหนึ่ง เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง

ถามว่าการที่เราตัดสินว่าการกระทำใดกระทำหนึ่งไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องนั้น เป็นเรื่องดีไหม เป็นเรื่องดี

คำถามต่อมา ถามว่า เพียงพอไหมที่เราจะตัดสินคนใดคนหนึ่งจากการกระทำเพียงอันใดอันหนึ่งของเขาเท่านั้น โดยไม่ดูภูมิหลังหรือชีวิตอื่นๆในส่วนอื่นๆของเขาเลย

ถ้าพ่อถามคำถามแบบนี้พี่น้องจะคิดยาก พ่อถามคำถามกลับด้าน

ถ้ามีใครมาตัดสินพี่น้องจากการกระทำใดกระทำหนึ่งของพี่น้อง พี่น้องรับได้ไหมครับ … ไม่ได้ (มีเสียงคนในโบสถ์ตอบเบาๆ)… ขอบคุณมากครับ เราก็รับไม่ได้เหมือนกัน

… เราก็จะตั้งคำถามว่า คุณรู้จักฉันดีแล้วเหรอ รู้จักฉันดีแค่ไหน คุณมาตัดสินฉัน คุณรู้จักฉันดีแค่ไหน เราเองก็ไม่ชอบใครคนอื่นมาตัดสินเรา เราก็ใจเบา ไปตัดสินคนอื่นเขา เช่นเดียวกัน

พระเยซูเจ้าต้องการจะเตือน จะเตือนเรา ว่าจะตัดสินอะไรใคร ดูให้รอบคอบก่อน การกระทำเขาผิด ใช่ แต่เราจะตัดสินคนว่าเป็นคนเลวทันทีได้ไหม … ไม่ได้ … นะครับ

คน … นะ … อันนี้ … อาจารย์พ่อก็สอนมา และพ่อก็รู้สึกว่ามันจะเป็นประโยชน์นะครับ พ่อขอตั้งคำถามกับพี่น้องแบบนี้ว่า คนดี คนดีนะ ทำเลวได้ไหม คนดีทำผิดได้ไหม

…. (เงียบไปชั่วสองสามอึดใจ) …. คนดีทำผิดได้ แต่คนดีจะไม่ทำเลว … งงไหมครับ … ไม่งงเนอะ …

คนดีทำผิดได้ เพราะอะไร ทำไมคนดีถึงทำผิด เพราะบางครั้งสิ่งที่เขาคิดว่าดีเนี้ย มันแสดงออกด้วยวิธีการที่ผิด มันก็เลยผิด แต่เจตนาเขา เขาไม่มีเจตนาชั่ว เขาไม่ต้องการทำร้ายใคร เพียงแต่ว่าด้วยความจำกัดของความรู้ เขาก็เลยแสดงออกในวิธีการที่อาจจะไม่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันด้วยความเป็นคนดีของเขา เขาจะเรียนรู้ทันทีว่า เฮ้ย อันนี้ไม่ถูก แล้วเขาจะเปลี่ยน นี่คือนิสัยของคนดี

แต่ถ้าพ่อกลับกัน พ่อบอกว่า พ่อถามว่า คนดีทำเลวได้ไหม … (เงียบอึดใจให้คิด) … ถ้าคนดีทำเลว เขาไม่ใช่คนดี เขาเป็นคนเลว ส่วนหนึ่งของในตัวเขามันมีความเลวอยู่ เขาจึงทำเลว

คนดีจะไม่ทำเลว แต่คนดีทำผิดได้ ไม่งงนะครับ เนอะ พ่อเชื่อว่า เดี๋ยวพี่น้องอาจจะต้องใช้เวลาคิดสักนิดหนึ่ง**** …

นี่คือเรื่องที่น่าสนใจ และในขณะเดียวกัน ที่พ่อบอกว่า ถ้ามีใครคนหนึ่งในสังคมของเราทำผิด การที่เราไปประนามเขาทันที หนึ่ง เป็นเรื่องที่ถูกเพียงครึ่งเดียว และเป็นการตัดสินที่ไม่ครบถ้วน

ซึ่งถ้าเราตัดสินโดยมีข้อมูลเพียงครึ่งเดียว คำตัดสินนั้นเป็นคำตัดสินที่ยังขาดความเชื่อถือ และ ถ้าสังคมโดยรวม ใช้วิธีการตัดสินที่ขาดความเชื่อถือนี้บ่อยๆ ผลกระทบอยู่กับสังคม ศีลธรรมสังคม จะเสื่อมลง คุณธรรมในสังคมนั้นจะด้อยลง

นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าเองก็พยายามที่จะป้องกันไว้ พระองค์ถึงบอกว่า ปล่อย การปล่อยให้คนดีและคนชั่วอยู่ด้วยกัน บางครั้งเป็นเรื่องท้าทาย นะครับ เป็นเรื่องท้าทาย

พ่อไม่สามารถที่จะอธิบายให้พี่น้อง*****เข้าใจชัดเจนได้ทุกเรื่อง เพราะว่าในความเป็นจริงมันมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เราต้องพิจารณาเป็นรายกรณี และ ต้องใช้ คุณธรรม ความรอบคอบของเรา ประสบการณ์ในชีวิตของเรา ในการที่เราจะตัดสินในเรื่องบางเรื่อง

แต่ว่าเรามีพระเยซูเจ้าเป็นตัวอย่าง เรามีพระเป็นเจ้าเป็นแบบอย่าง พระองค์ทรงตัดสินด้วยความปราณี ไม่ใช่ไม่ตัดสิน ตัดสินด้วยความปราณี ผิดก็บอกว่าผิด แต่ในขณะเดียวกันก็ให้โอกาส

นักบุญเปาโล เขียนจดหมายถึงชาวโคริน มีประโยคหนึ่ง นักบุญเปาโลบอกว่า ความจริง ต้องอยู่ในความรัก ความจริงก็คือความรัก … ความถูกต้อง … ใช่ … มี แต่ในขณะเดียวกัน ต้องมีความรักเป็นองค์ประกอบด้วย เราจะเอาถูกอย่างเดียวไม่ได้ เอาถูกอย่างเดียวเลย ไม่เอาความรักเลย ไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่นักบุญเปาโลพูดเมื่อ 2000 ปี ที่แล้ว

พระสันตปะปาเบเนดิกต์ ออกสมณสารฉบับหนึ่ง ชื่อ ความรักในความจริง นักบุญเปาโลพูดถึงความจริงในความรัก ในความจริงก็มีความรัก ในความถูกต้องก็มีความรัก

พระสันตปะปาเบเนดิกต์บอกว่า ยุคของเราปัจจุบันนี้ เราเน้นความรักมากเกินไปจนลืมความจริง ดังนั้นพระองค์จึงออกสมณสารว่าด้วยเรื่องความรักในความจริง ไม่ใช่ว่าเอารักอย่างเดียว ไม่ใช่ว่ารักแล้วอะไรก็ได้ แต่บนความรักต้องมีความจริงอยู่ในนั้น นะครับ นี่คือสองส่วนที่ต้องอยู่ด้วยกัน******

พี่น้องที่รัก พ่อของฝากแนวคิดนะครับ ไว้กับพี่น้องประมาณนี้ …

คุณพ่อยอห์นวัชรพล กู้ชาติ (หรือ คุณพ่อโบ๊ท)
เทศน์ไว้ในพิธีบูชาขอบพระคุณ วัดน้อยในโรงเรียนปัจจทรัพย์(ดินแดง)
วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

*วัดน้อย … วัดขนาดเล็ก โดยมากอยู่ในโรงเรียนคาธอลิก

**คุณพ่อ … ชาวคาธอลิกเราเรียกบาทหลวงว่า พ่อ หรือ คุณพ่อ (ตามด้วยชื่อจริง หรือ ชื่อเล่น ตามความสนิทสนม และ กาลเทศะ)

***เวลาเก็บเกี่ยว … เป็นคำอุปมานในคัมภีร์ไบเบิ้ล หมายถึง วันสิ้นโลกที่พระผู้เป็นเจ้าจะลงมาตัดสิน พิพากษาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และ ผู้ที่ได้ตายไปแล้ว เทียบเคียง(กับศาสนาพุทธ)ตามปัญญาและความเข้าใจเป็ดๆของผมก็คือวันที่ทุกคนต้องชดใช้กรรมตามกฏแห่งกรรมนั่นแหละครับ

อารมณ์ราวๆกับที่ถ้าเราคนพุทธเห็นความอยุติธรรมที่ไม่มีใครไปแตะต้องลงโทษได้ เราก็จะพูดทำนองว่าหนีกฏแห่งกรรมไปไม่พ้นหรอก ชาวคาธอลิกก็จะเชื่ออะไรทำนองนั้น เช่น โกงแล้วลอยนวล ก็รอวันพิพากษาก็แล้วกัน (เพราะพระเจ้าทรงเห็นทั้งในที่ลับและที่แจ้งจะพิพากษาคนโกงเอง)

****ผมชอบบทเทศน์มาก พอเลิกพิธีก็ไปดักรอสนทนาธรรมกับคุณพ่อหลังวัด ทราบมาว่า คุณพ่อจดมาแต่ลืมเทศน์ต่อว่า คนเลวทำถูกได้ แต่คนเลวจะไม่ทำดี หมายถึง คนเลวสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้ อาจจะด้วยความเข้าใจที่ผิดหรือบังเอิญ แต่คนเลวจะไม่มีทาง(ตั้งใจ)ทำดี คุณพ่อพยายามจะบอกว่า ถูก กับ ผิด (การกระทำ และผลของการกระทำ) และ ดี กับ เลว (ความตั้งใจ) มันคนล่ะเรื่องกัน

ด้วยปัญญากากๆของผมอีกแหละที่เทียบเคียงกับฝั่งของพุทธคือ เจตนา การกระทำ และ ผลของการกระทำ มันมี 3 อย่าง ถ้าจะเรียกว่าทำดีจริงๆมันต้องดีให้ครบทั้ง 3 อย่าง เหมือนทำทาน ถ้าจะให้ได้บุญจากทานนั้นครบก็ต้อง ตั้งใจดีบริสุทธิ์ทั้ง ก่อนให้ ขณะให้ และ หลังให้ อารมณ์ประมาณนั้น

*****เป็นสรรพนามบุรุษที่สองที่บาทหลวงใช้เมื่อเทศน์ หมายถึงพวกเราทุกคน น่าจะแปลมาจากคำว่า brotherhood

******ความเห็นเทียบเคียงแบบบ้านๆของผมคือ ต้องมีความสมดุลระหว่างความจริง และ ความรัก จะยึดเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งเลยนั้นไม่ได้

อุปมาหยาบๆ ความจริงก็คือ ตรรกะ เหตุผล ข้อเท็จจริง วัตถุประสงค์ (objectivity) masculine (ความเป็นเพศชาย) หยาง ความร้อน ธาตุไฟ ความรัก ก็คือ อารมณ์ ความรู้สึก ลางสังหรณ์ อัตวิสัย (subjectivity) feminine (ความเป็นเพศหญิง) หยิน ความเย็น ธาตุน้ำ … เทียบหยาบๆก็ราวๆนั้น เป็นการบอกว่า เราควรใช้ชีวิตอย่างสมดุล

เก็บคำถามนี้ไว้ พ่อไม่รู้คำตอบหรอก พ่อรู้แต่อนาคตภัทรมีความสุขกว่าพ่อแน่นอน

เก็บคำถามนี้ไว้ พ่อไม่รู้คำตอบหรอก พ่อรู้แต่อนาคตภัทรมีความสุขกว่าพ่อแน่นอน

Scroll to Top