เริ่มวัด IQ ได้ตั้งแต่อายุเท่าไร จู่ๆไปขอหมอวัดได้ไหมคะ

เริ่มวัด IQ ได้ตั้งแต่อายุเท่าไร จู่ๆไปขอหมอวัดได้ไหมคะ – หลังจากเป็นผู้สังเกตุการณ์มานาน วันนี้ผมให้ตัวจริงเสียงจริงมาคุยเรื่องราวบางประสบการณ์ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่พวกเราให้ฟัง

เริ่มวัด IQ ได้ตั้งแต่อายุเท่าไร

จู่ๆไปขอหมอวัดได้ไหมคะ

แม่น้องเฟิร์นขอเขียน

เห็นน้องเฟิร์นเขียนเรื่องความพิการใน facebook และเรื่อง ระดับ IQ แล้วเผื่อว่าจะมีคนสนใจ คุณแม่เลยคิดว่า อธิบายเป็นตารางแบบนี้จะดูเข้าใจมากกว่า

ระดับเชาว์ปัญญากับความสามารถรับการศึกษาประกอบอาชีพและการปรับตัว

เริ่มวัด IQ

ที่มา คณะแพทย์ศาสตร์ รพ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/05152014-1100

ถ้าดูจากตารางข้างบนจะเห็นว่า ระดับ ไอคิว คนปกติ อยู่ที่ 90 – 109 แต่ของน้องเฟิร์นจะอยู่ที่ 78 ค่ะ ซึ่ง เป็นระดับเชาวน์ปัญญาก้ำกึ่ง (ระหว่างปัญญาทีบกับปัญญาอ่อน) นี่คือสาเหตุค่ะ ที่ว่าทำไม จิตแพทย์ประจำตัวที่รักษาน้องเฟิร์น ถึงได้แนะนำให้ คุณแม่พาน้องเฟิร์นไปทำบัตรประจำตัวคนพิการประเภทบกพร่องด้านการเรียนรู้ค่ะ

ประโยชน์ของบัตรคนพิการนี่ นอกจากตอนนี้จะได้เบี้ยเลี้ยง 800 บาททุกเดือน จาก รัฐบาลแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้กับทุก รพ ของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้อีกด้วย ต่างจากคนปกติที่จะใช้สิทธิบัตรทองได้แค่ รพ เดียว และยังสามารถโชว์บัตรคนพิการในการ โดยสารรถไฟฟ้า BTS กับ MRT ฟรี

ส่วน รถเมล์ จะเสียค่าโดยสารครึ่งราคาค่ะ ซึ่งกระเป๋ารถเมล์บางคนที่ใจดีๆ พอโชว์บัตรคนพิการก็ไม่เก็บเงินก็มี

เรื่องวัดระดับไอคิวนี่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะเดินเข้าไปขอหมอวัดแล้วคุณหมอจะวัดให้นะคะ มันต้องมีข้อบ่งชี้เช่น กรณีพวกที่เป็น ผลการเรียนไม่ดี แล้วหมอต้องการตรวจสอบว่า จริงๆแล้วที่ผลการเรียนไม่ดีนั้นเป็นเพราะ ระดับไอคิว หรือ เป็นเพราะ ปัญหาสมาธิสั้นเป็นต้น

“การวัดไอคิวเด็กโดยไม่มีข้อบ่งชี้ อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ สมมุติว่าพ่อแม่อยากรู้ไอคิวลูกก็พาไปทดสอบ ซึ่งถ้ารู้ว่าไอคิวลูกต่ำ ความรู้สึกของพ่อแม่บางคนอาจรับไม่ได้คิดว่าลูกโง่ สมองไม่ดี เพราะคาดหวังว่าลูกต้องฉลาดเฉลียว ก็เสียใจ และพยายามที่จะทำทุกวิถีทางจนกลายเป็นความเครียดทั้งพ่อแม่และลูก ซึ่งยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก หรือพ่อแม่บางคนอาจจะปล่อยปละละเลยลูกไปเลย คือ ปลง เรียนไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม่เลี้ยงเอง แบบนี้ก็มี ดังนั้นการรู้ระดับไอคิวของลูก พ่อแม่จะต้องรู้อย่างมีสติ และไม่ควรนำเด็กไปทดสอบไอคิวพร่ำเพรื่อ”

ข้อความข้างบน มาจาก www.clinicdek.com โดย พญ จันทร์เพ็ญ ชูประชาวรรณ ผอ. สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ถ้า ใครสนใจเกี่ยวกับเรื่องการวัดไอคิว สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.clinicdek.com/archives/361

ส่วนของน้องเฟิร์นนี่ ตอนที่คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้นนั้น เนื่องจากคุณแม่เห็นอาการที่ผิดปกติของน้องเฟิร์นค่อนข้างเร็ว ตอนนั้น รู้ว่าลูกเรามีอาการผิดปกติบางอย่างแน่ๆแต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

โชคดีที่มีอยู่วันนึงแม่เฟิร์นไปนั่งรอหมอเด็กอยู่ที่ รพ ระหว่างนั่งรอ ก็อ่านหนังสือเกียวกับพวกแม่และเด็ก ก็เจอเรื่องโรคสมาธิสั้น และอาการเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น เช็คอาการต่างๆดู ก็คิดว่าใช่แน่ๆก็เลยพาน้องเฟิร์นไปตรวจดูกับ จิตแพทย์ค่ะที่ รพ รัฐค่ะ ซึ่งก็ใช่จริงๆด้วย

เนื่องจากตอนนั้น น้องเฟิร์นยังอยู่ในระดับอนุบาล คุณหมอบอกว่าเด็กในวัยอนุบาลจะไม่วัดไอคิวกัน จะวัดกันเมื่ออายุ หกขวบเป็นต้นไป ตอนนั้นเหตุผลจำไม่ได้แล้ว อย่างที่บอกคือมันนานมาก ก็ตอนนี้น้องเฟิร์นอายุ 20 ปีแล้วน่ะ 555 แม่เฟิร์นก็แก่แล้วเนอะ มันต้องมีหลงลืมเป็นปกติ แถมยังเป็นคนความจำสั้นเหมือนปลาทองอีกต่างหาก

แต่ด้วยความสงสัย ก็เลยไปค้นหาเพิ่มมาเผื่อ fc คนอื่นอยากรู้ค่ะ

“ถามว่าเราจะวัดไอคิวได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่มีการศึกษาคือตั้งแต่ 6 ขวบ ขึ้นไป เพราะมีระดับหรือเกณฑ์ในการเทียบเคียง ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ลงไปเราจะไม่เรียกว่าเป็นการวัดไอคิว แต่จะเรียกว่าระดับพัฒนาการเมื่อเทียบกับอายุจริง หรือ ดีคิว (Development Quotient) เช่น ในเด็กอายุ 5 ขวบ ควรจะมีพัฒนาการตามวัย แต่ปรากฏ ว่าเด็กทำได้มาก กว่าแสดงว่ามีระดับพัฒนาการสูงกว่าอายุจริง แต่ถ้าอายุ 5 ขวบ แล้วยังไม่สามารถทำอะไรได้ ตามวัยแสดงว่าระดับพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย”

ข้อความข้างบน มาจาก www.clinicdek.com โดย พญ จันทร์เพ็ญ ชูประชาวรรณ ผอ. สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ถ้า ใครสนใจเกี่ยวกับเรื่องการวัดไอคิว สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.clinicdek.com/archives/361

ตอนนั้นแม่น้องเฟิร์นก็เข้าใจว่าเป็นสมาธิสั้นอย่างเดียว ก็คิดว่าที่มีปัญหาเรื่องการเรียน สอนแล้วสอนอีกก็ลืม ได้หน้าลืมหลัง เรื่องง่ายๆที่ควรจะเข้าใจในวัยเขา ก็ไม่เข้าใจ ทำไมเรื่องง่ายๆ แค่บวก ลบ เลข สำหรับเขามันถึงยากจังเลย อะไรแบบนี้ค่ะ

ระดับประถมต้นก็สอนยากแล้ว ตอนนั้นคุณแม่สอนน้องเฟิร์นเองค่ะ ไม่ได้จ้างครูสอนพิเศษเพราะอยากทราบด้วยว่า ยาสมาธิสั้นที่คุณหมอให้นั้น มันได้ผลดีแค่ไหน พอระดับประถมปลายจะขึ้นมัธยม ความยากยิ่งมากขึ้น ขนาดที่ว่า คุณแม่ทำตารางให้เขาอ่านหนังสือเตรียมสอบ พร้อมกับ ก็สอนเขาไปพร้อมกันด้วย ล่วงหน้าค่อนข้างนานแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า น้องเฟิร์น รับไม่ค่อยทัน

จึงคุยปัญหาเรื่องนี้กับคุณหมอค่ะ คุณหมอเลยจับทดสอบ ไอคิวอีกทีก็ได้ระดับไอคิวตามนั้นล่ะค่ะ ตอนนั้นพอทราบไอคิวน้องเฟิร์น น้ำตาแม่ก็ร่วงอีกครั้ง หลังจาก ครั้งแรกที่ทราบว่าน้องเป็นสมาธิสั้น

ตอนนั้นคุณหมอใช้คำว่า ระดับไอคิวของน้องเฟิร์นเป็นแบบ คาบเส้นปัญญาอ่อน หรือเรียกว่า (borderline mental retardation) จริงๆ เราก็ทำใจมาบ้างว่าต่ำกว่าปกตี แต่ไม่นึกว่าจะอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า คาบเส้นปัญญาอ่อน

พอได้ฟังคำนี้แล้ว ความรู้สึกทั้งเศร้า เสียใจ และ สงสารน้องเฟิร์น มันประดังกันเข้ามาทันที น้ำตามันไหลอยู่ในอก แต่ก็กลั้นใจถามหมอไปตรงๆว่าหมอคะ ไอคิว ระดับนี่ สามารถเรียนจบได้ระดับไหนคะ คุณหมอก็ตอบแม่มาว่า ม.3

หลังกลับบ้านไปนั่งเสียใจและทำใจยอมรับความจริงได้ ก็ปรึกษากับพ่อน้องเฟิร์นว่า โรงเรียนที่น้องเฟิร์นเรียนอยู่นี้ คงไม่เหมาะกับทั้งระดับ ไอคิว และ โรคสมาธิสั้นของเฟิร์น ในตอนนั้นหมอตรวจพบความผิดปกติแค่สองอย่าง เพราะว่าเป็นโรงเรียนเอกชนคาธอลิกชื่อดัง ที่ค่อนข้างเน้นด้านวิชาการ

ต้องขอแก้ข่าวนะคะ เคยอ่านเจอใน facebook nongferndaddy/adhd ที่มีรูปใบสมัครเข้าเรียนต่อ กศน ในช่องเหตุผลที่มาสมัครเรียนที่นี่ แล้วน้องเฟิร์นเขียนว่า โดนโรงเรียนไล่ออกไม่เป็นความจริงนะคะ โรงเรียนไม่เคยไล่ออก เฟิร์นแกลืมไปแล้วและสับสนไปเอง

คุณครูที่นั่นน่ารักและพยายามช่วยเหลือมาก ถึงแม้เพื่อนๆในห้องจะไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในตัวเฟิร์นก็ตาม แต่อันนั้นก็เข้าใจได้เพราะเพื่อนๆก็เป็นเด็กประถมเอง ก็เลยพาออกมาเรียนที่ โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยหน่อยและ มีเด็กพิเศษร่วมเรียนด้วย และไม่เน้นด้านวิชาการมาก จนถึงชั้น มัธยมสาม ก่อนที่ จะมาต่อ กศน เพื่อให้จบชั้น มัธยมหกในตอนนี้

ซึ่งคุณแม่ต้องขอชี่นชมทั้งตัวน้องเฟิร์นที่เขามีความไฝ่รู้อยากเรียนต่อ และพ่อน้องเฟิร์นที่มีไอเดียในการให้เรียนที่ กศน ซึ่ง ก็เหมาะกับเงื่อนไข ของน้องเฟิร์นมาก ทั้งสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย และ หลักสูตรของ กศน ก็ไม่ได้เน้นวิชาการจ๋าเหมือน ใน รร แต่จะมีคะแนนเก็บจากการเข้าร่วมกิจกรรม ทำรายงานเดี่ยว และโครงงานกลุ่ม มาช่วยค่อนข้างเยอะ

กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ ที่น้องเฟิร์น เป็นทั้ง

  1. สมาธิสั้น
  2. ระดับไอคิวก้ำกึ่งระหว่างปัญญาทึบกับปัญญาอ่อน
  3. จิตเภท
  4. ย้ำคิดย้ำทำ
  5. มีปัญหาในเรื่องการประสานงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก

ข้อสุดท้ายนี่ทำให้เธอมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน งานง่ายๆอย่างเปิดฝากระป๋องนมข้นด้วยที่เปิดฝาแบบธรรมดาทน้องเฟิร์นจะเปิดไม่ได้ ต้องใช้ที่เปิดกระป๋องแบบมือหมุนที่มีเฟือง หรืองานบ้านนี่ ก็ทำให้เธอหงุดหงิด วีนเหวี่ยงแล้ว

fc ทั้งหลายคงได้สังเกตเห็นว่า ลายมือเฟิร์นจะเขียนตัวใหญ่และเย้ไปมา ไม่เป็นระเบียบ นั่น เพราะ ไม่สามารถควบคุมบังคับกล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างใจ เหมือนคนทั่วไปค่ะ

กว่าจะมาถึงวันนี้ จริงมีเรื่องเล่าเยอะแยะมากมาย แล้วความผิดปกติบางอย่างมันไม่ได้เจอตอนเด็ก มันมาเป็นตอนวัยรุ่น เช่น จิตเภท ย้ำคิดย้ำทำก็มี

เสียดายที่คุณแม่ไม่มีความสามารถในการเล่าเรื่อง หรือการเขียนเหมือนพ่อน้องเฟิร์น ใจเคยคิดอยากเขียนเหมือนกัน เผื่อจะเป็นประโยชน์ว่า สังเกตอาการลุกอย่างไร จึงทราบว่าลูกเป็นสมาธิสั้น หรือ จิตเภท และบอกหมอได้ เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง

แต่ก็นั่นล่ะ งานเขียน นี่ เป็นอะไรที่ยากสำหรับแม่มาก ไม่เก่งเหมือนพ่อน้องเฟิร์นเลยจริงๆค่ะ พ่อน้องเฟิร์น จบ วิศวะ แต่เขียนเก่งทั้งทางวิชาการ และ สัพเพเหระ กระทู้ที่ให้มุมมองบวกในการดำเนินชีวิต กระทู้เรียกน้ำตาต่างๆ จนอิจฉา ฮึ เบ้ปาก มองบน

What make a child a child today เด็กคนนี้โตมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร

What make a child a child today เด็กคนนี้โตมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร

Scroll to Top