Psychiatry treatment EP1 การรักษาผู้ป่วย

Psychiatry treatment EP1 การรักษาผู้ป่วย – จากตอนที่แล้วผมคุยภาพกว้างๆว่าไปในหัวเรื่อง ไปหาจิตแพทย์ = เป็นคนบ้า (เหรอ)

Psychiatry ไปหาจิตแพทย์ = เป็นคนบ้า

ตอนนี้อยากชวนคุยลงลึกนิดนึงเรื่องการรักษาผู้ป่วยจิตเวช …

ออกตัวก่อนนะครับ ว่าผมไม่ใช่หมอ ไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่มีปริญญาอะไรในทางนี้ เป็นแค่ พ่อ ธรรมดา คนหนึ่ง ที่ดูแลรักษาสมาชิกในครอบครัวที่ป่วย … แบ่งปันจากประสบการณ์ล้วนๆ

Psychiatry treatment EP1

อย่างที่เกริ่นไปในตอนที่แล้ว การรักษา มี 3 วิธี

  1. ยา ปรับระดับสารสื่อประสาทให้สมดุล ข้อดี คือ เห็นผลเร็ว ว่ายาอะไร ขนาดไหน ได้ผล หรือ ไม่ได้ผล ปรับชนิดยา ปรับขนาดยา ไปมา จนหาจุดสมดุลได้ในเวลาไม่นาน (3 – 6 เดือน)

ข้อควรระวัง คือ …

  • ผลข้างเคียงที่ไม่พึ่งประสงค์ ทางร่างกาย และ พฤติกรรม ทำให้บ่อยครั้งเราต้องเลือกที่ไม่ดีน้อยที่สุด (the lesser between 2 evils)
  • เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น น้ำหนักมากขึ้น มักจะต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นตามอายุ และ น้ำหนักตัว ผลข้างเคียงที่ไม่พึ่งประสงค์ก็มากขึ้น
  • ยาจิตเวชตีกับยาประจำอื่นๆ (ถ้ามี) ทำให้ยาประจำอื่นได้ผลการรักษาน้อยลง หรือ ต้องไปเพิ่มยาประจำอื่น ผลข้างเคียงที่ไม่พึ่งประสงค์จากยาประจำอื่นก็มากขึ้น
  • ต้องพึ่งยาไปตลอด ถ้าลืมกิน หรือ ไม่มีตังค์ซื้อยา อาจจะลำบากได้

2. ปรับพฤติกรรม ข้อ ดี คือ ถ้าได้ผล จะได้ผลในระยะยาว ไม่มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ แต่ข้อควรระวัง คือ

  • ผู้ดูแลต้องเรียนรู้ และ ฝึก ตัวเองก่อน และ ใช้ความพยายามมาก เวลานาน อย่างสม่ำเสมอ ต้องอึดว่างั้นเถอะ
  • ไม่ทุกโรคจิตเวช หรือ อาการทางจิต ที่ตอบสนองการปรับพฤติกรรม พูดง่ายๆ คือ ต้องลองนั่นแหละ อาจจะได้ผลมากน้อยแตกต่างกันไป
  • เนื่องจากต้องอึด ทำให้ ผู้ดูแลรักษา ถ้าไม่มุ่งมั่นพอ มักจะท้อถอย ยกธงขาวได้ง่าย

การพาไปพบนักบวช ผู้นำความเชื่อ ทางศาสนา และ จิตวิญญาณ เพื่อ บำบัดทางจิต ก็อยู่ในการรักษาโดยการปรับพฤติกรรม เช่นกันครับ เช่น ทำบุญ ทำทาน ใส่บาตร นั่งสมาธิ สวดมนต์ ภาวนา กิจกรรมจิตอาสา ดนตรี กีฬา

แนวทางการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ได้ปฏิเสธภูมิปัญญาทางด้านนี้เลยครับ ในทางตรงข้าม รณรงค์ให้นำเอาเรื่องของศาสนา นักบวช ตามแนวความเชื่อ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตามจังหวะโอาสด้วยซ้ำ

3. เปลี่ยนสภาพแวดล้อม ในกรณีที่ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการรักษา หรือ การใช้ชีวิต สภาพแวดล้อมในที่นี้ เหมารวม ทั้ง ทางสังคม และ กาพภาพ เช่น ฝุ่นละอองในเมืองหลวง เสียงดังรบกวน (เช่น บ้านอยู่ริมถนนใหญ่) หรือ สังคม หมู่บ้าน ครู ผู้ปกครอง โรงเรียน ญาติผู้ใหญ่ กงสี ที่ไม่เข้าใจ ในแนวทางรักษา เช่น จะจูงไปทางไสยศาสตร์อยู่เรื่อง เป็นต้น

สภาพแวดล้อม ไม่ใช่การรักษาโดยตรง แต่จะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ ปริมาณการใช้ยาน้อยลง และ การปรับพฤติกรรม ง่าย และ ได้ผล มากขึ้น เหมือนสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ของเด็กปกติได้แหละครับ

พอเห็นภาพรวมไหมครับว่า ทั้ง 3 อย่าง มันเอื้อกัน

Psychiatry treatment EP1

การใช้ยาในเบื้องต้น เสมือน ต้องเอาเครื่องดับเพลิงใกล้มือมาฉีดดับไฟก่อน พอไฟทุเลาลง พฤติกรรมอยู่ในกรอบที่พอจะเรียนรู้ หรือ ปรับ ได้ ผู้ป่วยก็มักให้ความร่วมมือ ผู้ปรับก็ไม่เหนื่อยมาก มีกำลังใจ ไม่ท้อ เพราะเห็นผลจากความเพียรพยายาม พอปรับพฤติกรรมได้บ้าง หมอก็สามารถลดยาลงได้บ้าง ผลข้างเคียงที่ไม่พึ่งประสงค์ก็ลดลง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้างก็ดีขึ้น

ยา ช่วย ให้การปรับพฤติกรรมง่ายขึ้น การปรับพฤติกรรมง่ายขึ้น ช่วย ให้ใช้ยาน้อยลง … วนๆกันไปแบบนี้ทุกวงรอบ จนในที่สุด ก็จะเหลือปริมาณยาจำนวนหนึ่งที่น้อยที่สุดที่สามารถคุมอาการได้ (หรือ บางรายก็หยุดยาได้เลย)

ส่วนการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยครอบอีกที ที่ทำให้ ทั้ง ยา และ การปรับพฤติกรรม ได้ผลเร็วขึ้น ได้ผลดีขึ้น

เช่น ถ้าผู้ป่วยกรี๊ดทุกครั้งที่ได้ยินเสียงดังๆ ถ้าบ้านอยู่อยู่ริมถนนสายหลัก 8 เลน หรือ อยู่ติดสนามบิน จะปรับยา หรือ ปรับพฤติกรรม ก็คงได้ผลลำบาก หรือ อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ละคนให้การรักษาไม่ไปทางเดียวกัน ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาในแนวทางที่ถูกต้อง … อีแบบนี้ จะให้การรักษาได้ผลก็คงยาก

ผู้ป่วยแพ้ฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ หรือ หญ้า (ในบางพื้นที่) ให้ยาไป ปรับพฤติกรรมไป ผู้ป่วยน้ำหูน้ำตาไหลไป จามไปด้วย จมูกก็แดง น้ำมูกไหลเยิ้ม แบบนี้ ต้องกำจัดฝุ่น หรือ ย้ายบ้านก่อนเลยครับ ปรับยา ปรับพฤติกรรม เอาไว้ทีหลัง 555

เห็นไหมครับ ไม่ใช่ เอะ อะ อะไร ก็เอายากรอกปากผู้ป่วย หรือ เอะ อะ อะไรก็ตั้งป้อม ลูกชั้นต้องไม่กินยา … ต้องรักษาแบบองค์รวม กลมกลืนกันไปครับ

บางครั้งครอบครัวก็ต้องยอมเสียสละปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น ย้ายออกจากบ้านกงสี ย้ายจังหวัด หรือ แม้กระทั่ง ย้ายโรงเรียน ย้ายประเทศ

บางครอบครัว พ่อ แม่ แรงด้วยกันทั้ง คู่ อาจจะต้อง เคาะกันให้สะเด็ด ว่าจะให้ใครรักษา จะใช้แนวของใคร ไม่งั้น ลูกที่ป่วยนั่นแหละ โชคร้ายที่สุด ถ้า พ่อ แม่ ตกลงกันไม่ได้ หรือ เลือกทางรักษาที่ผิด

เหนือส่งอื่นใด เมื่อพบว่า เราเป็นพ่อแม่ หรือ เป็นผู้ต้องรับผิดชอบรักษาผู้ป่วยจิตเวช อย่างแรกที่ต้องทำ คือ …

  1. รักษาตัวเองทั้งกาย และ ใจ ให้พร้อมก่อน
  2. ศึกษาความป่วยไข้ทางจิตของผู้ป่วย อย่างถูกต้อง อย่างเข้าใจให้ได้มากที่สุด แหล่งข้อมูล และ กรณีศึกษามีมากมาย ทั้งห้องสมุดออนไลน์ เว็บไซด์ และ คุณหมอ

แล้วต้องกินยาไปตลอดชีวิตไหม …

คิดง่ายๆแบบนี้ครับ ผู้พิการทางกาย แขนขาด ฝึกฝนทางกายภาพไปก็ทำได้แค่ ทำให้เขาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างสะดวกสบาย มั่นใจ มากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้แขนที่ขาดไปงอกขึ้นมาใหม่ได้

สารสื่อประสาทที่ไม่สมดุลก็เช่นกัน การปรับพฤติกรรมช่วยให้ สารสื่อประสาท “ใกล้” สมดุล ได้ระดับหนึ่ง ยา จะเป็นตัวช่วยให้เกิดสมดุล

ยา เปรียบเสมือน แขนขาเทียม แว่นตา ไม้ค้ำยัน เครื่องช่วยฟัง ฯลฯ ถ้าหยุดยา ก็เหมือน ถอดแขนขาเทียมออก นั่นแหละครับ

ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวอีกนิด เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง จากพันธุกรรม (ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตนะครับ) ผู้ป่วยเหล่านี้ ก็ต้องกิน ฉีดอินซูลิน ทานยาลดความดัน ยาลดไขมัน ตลอดชีวิต ใช่ไหมครับ ก็ไม่ต่างกับผู้ป่วยจิตเวช ถึงผู้ป่วย เบาหวาน ความดัน ไขมันสูงจะปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ช่วยให้ใช้ยาน้อยลง แต่ยังต้องใช้ยาอยู่ …

แต่ทำไมสังคมบางส่วนกลับดราม่ากับการใช้ยาในผู้ป่วยจิตเวชกันจัง เมื่อเทียบกับผู้ป่วย เบาหวาม ความดัน ไขมัน จากพันธุกรรม ทั้งๆที่ ต้นเหตุมันก็เกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมี อันเนื่องมาจากพันธุกรรมเช่นกัน แค่ สารเคมีต่างกัน และ สะท้อนผลการป่วยไปที่ต่างจุดกันในร่างกาย

ส่งท้าย …

ถ้าถามพ่อแม่ที่มีลูกป่วยจิตเวช(หนักในระดับหนึ่ง)ว่าอยากให้ลูก เผา/ฝัง เรา หรือ เรา เผา/ฝัง ลูก … คำตอบน่าจะเหมือนกัน คือ เรา เผา/ฝัง เขา น่าจะทำให้พวกเราตายตาหลับได้มากกว่า

เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคนที่โชคดีเหมือนผมและภรรยานะครับ … สู้ๆ …

พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร

สองคำที่สับสน … จิตเวช (psychiatry) vs. จิตเภท (schizophrenia)

Scroll to Top