Psychiatry ไปหาจิตแพทย์ = เป็นคนบ้า

Psychiatry ไปหาจิตแพทย์ = เป็นคนบ้า … นอกจากเรื่องวิศวกรรมหลุมเจาะ ก็มีเรื่องนี้แหละที่ผมรู้ดีที่สุด 🙂 ก็อย่างที่ทราบแหละ ครอบครัวไหนมีปัญหาอะไร หัวหน้าครอบครัวก็ต้องรู้เรื่องนั้นๆเป็นพิเศษ วันนี้เลยขอแบ่งปันเรื่องนี้ดีกว่า

ออกตัวก่อนว่า ที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้เป็นประสบการณ์ตรงที่ได้จากคนรอบตัวคนใกล้ตัว ถามและจำจากที่คุณหมอ นักจิตวิทยา แนะนำบ้าง + ศึกษาจากห้องสมุดออนไลน์

Psychiatry

ไปหาจิตแพทย์ = เป็นคนบ้า

สองคำที่สับสน … จิตเวช (psychiatry) vs. จิตเภท (schizophrenia)

จิตเวช คือ ความป่วยจากจิต ความหมายครอบจักวาล เช่น สมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ

จิตเภท คือ อาการป่วยทางจิต ที่มีการรับรู้ที่ผิดปกติ มีความผิดปกติทางความคิด หรือ มีอาการหลงผิด เช่น เห็น ได้ยิน กลิ่น รส รู้สึกสัมผัส มีความคิด (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เอง โดยไม่มีสิ่งเร้าใดๆ

Psychiatry
จิตเภท (schizophrenia)

สรุป จิตเภท เป็น โรคกลุ่มหนึ่ง ของ จิตเวช

ADHD9 ถ้ารู้ก่อนล่วงหน้าว่าเขาจะเกิดมาเป็นแบบนี้ เราจะยังให้เขาเกิดมาไหม …

เราเอานิ้วจับเปลวไฟแล้วรู้สึกร้อนที่นิ้วได้ เพราะเซลประสาท หลายๆเซลส์ “คุยกัน” เริ่มจากเซลประสาทนิ้วจุดที่โดนเปลวไฟ โดยคุยแบบพรายกระซิบที่เราเล่นในแคมป์ลูกเสือ (เนตรนารี ยุวกาชาด) สมัยเด็กๆ

เซลประสาทคุยกันด้วย ปฏิกริยาไฟฟ้าเคมี โดยมีสารเคมีชนิดหนึ่งเป็นตัวกลางนำข้อมูลจากเซลประสาทหนึ่งไปยังเซลส์ประสาทหนึ่ง เหมือนรถกระบะบรรทุกข้อมูลจากเซลส์ฯหนึ่งไปส่งให้อีกเซลส์ฯหนึ่ง ส่งต่อไปกันไปจนถึงสมอง

เราเรียกสารเคมีกลุ่มนี้ว่า สารสื่อประสาท (neurotransmitter) ซึ่งมีหลายชนิด ชื่อที่คุ้นๆกันคือ โดปามีน ซีโรโทนิน อีปิเนฟฟริน ฯลฯ (ที่มักได้ยินจากโฆษณานมผงเด็ก หรือ อาหารเสริมสมอง)

เครียด เศร้า วิตกกังวล จดจ่อ(สมาธิ) ฯลฯ … เป็นเรื่องคนปกติๆทั่วๆไป มี และ เป็น โดยมีทีมาที่ไป(สิ่งเร้า) เช่น หมาตาย พรุ่งนี้สอบเข้ามหาวิทยาลัย แฟนเท ฯลฯ เมื่อมี เมื่อเป็น สักพัก ก็จะ มี และ เป็น น้อยลงๆ จนกลับสู่ปกติ

จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผมกำลังจะบอกว่า กลไกการเเกิดขึ้น มีอยู่ และ หายไปของ ความ เครียด เศร้า วิตกกังวล ไม่จดจ่อ(สมาธิ) ฯลฯ นั่น เป็นทั้งเหตุ และ เป็นทั้งผล ของปริมาณสารสื่อประสาทแต่ล่ะชนิดในสมองของเรา

ที่ผมบอกว่าเป็นทั้งเหตุ และ เป็นทั้งผล นั้น อธิบายตรงนี้ จะยาก และ ยาวมาก ละเอาไว้ก่อน

ผู้ที่ป่วยจิต คือ ไม่มีสิ่งเร้า ก็รู้สึกทางกาย (ตาหูจมูกลิ้นกายสัมผัส) ไม่มีสิ่งเร้าก็ เครียด เศร้า วิตกกังวล ไม่จดจ่อ(สมาธิ) ฯลฯ เองได้ หรือ มีสิ่งเร้า แล้ว เครียด เศร้า วิตกกังวล ไม่จดจ่อ(สมาธิ) นานเกินคนทั่วๆไป ภาษาบ้านๆ คือ ไม่หายสักทีว่างั้น

จะรู้ได้ไงว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคจิตเวช

สังเกตุตัวเองอย่างซื่อสัตย์ หรือ สังเกตุโดยคนปกติรอบข้าง หลายๆคน ทำแบบสอบถามที่ได้รับการรับรองจากจิตแพทย์สมาคม วัดระดับสารสื่อประสาท(ทางอ้อม)

จากแบบสอบถาม คุณหมอจะมีค่าโดยประมาณของ 1. ชนิดอาการ 2. ความรุนแรง 3. ความถี่ ว่าประมาณไหนถึงจะเรียกว่า คนปกติ ประมาณไหน คือ เป็นโรคจิตเวช (ในระดับไหน)

ตรงนี้มีจุดสังเกตุว่า แบบสอบถามเป็นอัตวิสัย (subjective) ขึ้นกับผู้ประเมิน ไม่เหมือน วัดอุณหภมิ ความดัน ค่าเลือดต่างๆ

คนที่ขี้รำคาญ ก็อาจจะตอบว่า อาการขนาดนี้ก็น่ารำคาญแล้ว หรือ ให้คนเป็นโรควิตกกังวล ประเมิน คนปกติ ก็อาจจะบอกว่า คนนั้นผิดปกติ (ฮา) เป็นต้น

ดังนั้น คุณหมอมักจะให้คนรอบๆตัวทำแบบสอบถามหลายๆคน

ในมุมของสารสื่อประสาทบ้าง คนปกติจะมีปริมาณของสารสื่อประสาททุกประเภทอยู่ในระดับที่ “สมดุล” ในช่วงเวลาหนึ่งๆสารสื่อประสาทแต่ล่ะประเภทมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติได้ (เป็นทั้งเหตุและผลของอารมณ์ที่ว่า) แต่กลไกของสมอง จะปรับให้สารสื่อประสาทกลับเข้าสู่ช่วง “สมดุล” แต่ถ้าปริมาณสารสื่อประสาทไม่สมดุล เราก็จะมีอาการของโรคจิตเวช อย่างที่กล่าวไป

จะรักษาอย่างไร

กาย ใจ เรา ผูกโยงกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เราคิดหรือรับรู้ สำนวนไทยว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถูกครึ่งเดียวครับ ความเป็นจริงที่พิสูจน์แล้วจากงานวิจัยนับพันๆชิ้น สรุปตรงกันว่า จิตและนายเป็นทั้งนายและบ่าว

ก. จิตที่ผ่องใส ทำให้ร่างกายแข็งแรง ในทางกลับกัน ข. ร่างกายที่แข็งแรงก็ทำให้จิตผ่องใส ได้เหมือนกัน ถ้าใครหากรณีแย้งว่า ข. ไม่จริง ผมก็หากรณีแย้งว่า ก. ไม่จริงได้เช่นกัน … แต่ที่แน่ๆคือ จริงทั้ง ก. และ ข.

ดังนั้น การรักษาจึงต้องเป็นองค์รวม

  1. ยา ปรับระดับสารสื่อประสาท เพื่อให้อาการทางอารมณ์ออกมาตามเป้าที่รับได้
  2. ปรับพฤติกรรม ปรับอาการ ปรับอารมณ์ (training) จนคุ้นชิน (new normal) แล้วระดับสารสื่อประสาทกลับเข้ามาอยู่ในระดับที่พอรับได้
  3. เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งเร้าทำให้การรักษาไม่ได้ผล เช่น สารก่อภูมิแพ้รบกวน สังคมที่ไม่เข้าใจ ข่มแหงรังแก พ่อแม่ผู้ปกครองโรงเรียนที่ทัศนคติไม่เอื้อต่อการรักษา

3 อย่างนี้ ต้องใช้อย่างเหมาะสมกลมกลืน ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป แน่นอนว่า การใช้ยา ได้ผลเร็วทันใจ แต่ก็มีผลข้างเคียงเยอะ หยุกกินยา อาการก็กลับมา ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ก็ตรงข้ามกับการใช้ยา

ยิ่งไปกว่านั้น โรคจิตเวชแต่ล่ะโรคก็ตอบสนองกับ 3 ทางรักษา แตกต่างกัน ผมไม่อาจบอกได้ว่า โรคจิตเวชอะไร ถูกกับการรักษาแบบไหน ผมแค่รู้ว่า ตอบสนองการรักษาแต่ล่ะแบบไม่เท่ากัน ผู้รักษาและผู้ป่วยต้องอดทนทดลองผสมผสานแต่ล่ะวิธีกับกรณีของแต่ล่ะคน เพื่อตอบโจทย์ในระยะยาว

มีปรากฏการณ์ทางสังคมไทยที่ผมสรุปเป็นบทเรียนได้ 2 ข้อ

บทเรียนที่ 1

สังคมทั่วไปมักมองข้ามผู้ป่วยจิตเวช โดยไปให้ความสำคัญ และ ช่วยเหลือ ผู้ป่วยทางกายมากกว่า โดยมองว่า ผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้ผิดปกติอะไร ทำให้ปฏิบัติและคาดหวังกับผู้ป่วยจิตเวชในระดับคนปกติ ซึ่งก่อให้เกิดความกดดันกับผู้ป่วยจิตเวช แล้วทำไปสู่อาการและผลการรักษาที่แย่ลง

ผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า คนทั่วไป ไม่คาดหวังให้ คนขาขาด 1 ข้าง (ใช้ไม้ค้ำยัน) จะเอาเดินของไปส่งจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่งได้เร็วเท่าคนขาปกติ เพราะเห็นจะจะว่า เขาเป็นคนพิการมีขาข้างเดียว แต่ถ้าสมมติว่า เราลองหลับตาไม่เห็นความพิการทางกายของเขา แล้วคาดหวังว่าเขาจะเดินของไปส่งจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่งได้เร็วเท่าคนขาปกติ เขาก็จะเครียดและอยู่ไม่ได้ในสังคมนั้นๆ

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจิตเวช คนทั่วๆไปคิดว่าคนกลุ่มนี้ไม่เห็นเป็นอะไร ก็คาดหวังว่าเขาจะทำงานต่างๆได้ปกติ พอเขาทำไม่ได้ ก็จะตำหนิ รังแกทั้งทางร่างกายและจิตใจ ประเมิน ลดโอกาสในการทำงาน และ มีตัวตนในสังคม

บทเรียนที่ 2

ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และ การศึกษา ไม่ใช่เป็นปัจจัยที่บอกว่า คนๆนั้นจะเข้าใจโรคจิตเวช

มีคุณหมอ เพื่อนผม คนมีฐานะ มากมาย ที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ให้ลูกหลานพ่อแม่ที่ป่วยจิตได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือ ยังรังเกียจผู้ป่วยจิตเวชราวกับว่าเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ด้วยการมองเห็นหรือสบตากัน … ซึ่งก็นะ ไม่แปลกอะไร เพราะเราก็ยังเห็นคนฐานะดี มีการศึกษา พื้นฐานครอบครัวดี ในบ้านเมือง งมงายกับหลายๆเรื่องที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

อ่านกันมาถึงตรงนี้ น่าจะพอได้คำตอบแล้วนะครับว่า คนที่ไปพบจิตแพทย์ ไม่ใช่คนบ้า เขาก็แค่ไม่สบายเท่านั้น เหมือนเราไปหาหมอทางกายนั่นแหละ ปวดหัวตัวร้อนเจ็บโน้นปวดนี่ เหมือนเป็นสัญญานเตือน เราก็ไปหาหมอก่อนที่โรคภัยจะบานปลาย

หมาตายไป 3 เดือนแล้ว ยังร้องไห้ เศร้าซึม ไม่เลิก เสียงานเสียการ ตัวเองต้องสังเกตุตัวเอง คนรอบข้างก็ต้องช่วยสะกิดกันด้วย เปิดใจยอมรับ จูงมือไปปรึกษานักบวชตามศาสนาและความเชื่อของตน หรือ พบจิตแพทย์ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

โรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีจิตแพทย์ต่างๆประจำอยู่ทุกรพ. ไม่ต่างจากแพทย์สาขาอื่นๆครับ โทรฯไปนัดหมายได้

Scroll to Top