บทเรียนที่ 18 ของน้องเฟิร์น การจัดการทรัพยากร

บทเรียนที่ 18 ของน้องเฟิร์น การจัดการทรัพยากร – เหตุเกิดเมื่อวันเสาร์ 27 พ.ย. 2564 …

“เฟิร์นเรียนไทยคดีศึกษา เฟิร์นอยากไปดูงานที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เฟิร์นหาข้อมูลแล้ว วันนี้เปิด ค่าเข้า คนไทย 30 บาท”

บทเรียนที่ 18 ของน้องเฟิร์น

การจัดการทรัพยากร

บทเรียนที่ 18 ของน้องเฟิร์น
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งประเทศไทย

บทเรียนที่ 17 ของน้องเฟิร์น … ทำไมคนถึงใจร้ายกับหนู คุณพ่อช่วยหนูด้วยค่ะ หนูเสียใจ

นางมาขออณุญาติ พร้อมขอตังค์ เมื่อเช้า สักก่อน 10 โมงนิดๆ

จำได้ว่านางเคยไปมาก่อน ช่วงผ่อนคลาย รอยต่อโควิด รอบสอง กับ รอบสาม แต่ครั้งนั้น นางไม่ได้ตรวจสอบดูก่อนว่าเปิดไหม สรุปว่า นางไปเก้อ

หลังจาก ซักถามเรื่องการเดินทาง และ ค่าใช้จ่ายจนแน่ใจว่านางหาข้อมูลมาครบไม่พลาดเรื่องอะไรแล้ว ก็ให้เงินเป็นค่าเดินทาง ค่ากินข้าวเที่ยง และ ค่าซื้อของชำร่วยที่พิพิธฯเล็กๆน้อยๆ

แล้วผมก็เปิด app ติดตามดูนางไปในแผนที่

พักใหญ่ จากแผนที่ … นางออกจาก MRT สนามไชยแล้วมาหยุดอยู่ที่ท่าเรือยอดพิมาน นานมาก … ประกอบกับเวลาเที่ยงพอดี ผมก็เดาว่า นางคงหิวแล้วหาอะไรกิน ก่อนต่อเรือธงส้มไปท่าพรานนก (แล้วข้ามมาท่าพระจันทร์เพื่อเดินไปอีกนิดก็ถึงพิพิธฯ)

สักพัก … กริ๊งงงงงงง … โทรศัพท์ดัง …

“เรือธงส้มมันไม่วิ่งวันนี้ค่าาาาา ทำไงดี เฟิร์นจะไปยังไง”

มาแล้ว ปัญหา … มีมือถือ มีพ่อ ไว้ทำไม จริงไหม … (ฮา)

ผมจำได้ว่าแถวนั้นมี โรงเรียนราชินี และ มีวินมอเตอร์ไซด์ ก็บอกว่าให้นางไปถามซิว่าไปพิพิธฯวินคิดเท่าไร นางบอก ตังค์หมดแล้ว ขอตังค์หน่อย …

ผมก็ … หา! … MRT นางก็ขึ้นฟรี (บัตรผู้พิการ) เรือก็ยังไม่ได้ขึ้น เงินไปไหนหมด … สรุป … นางเอาเงินไปซื้อข้าวกิน(มื้อใหญ่) กับ ของชำรวยที่ท่าเรือยอดพิมาน (ตรงนั้นมีร้านขายของยั่วเยอะมาก) ทั้งตัวเหลือแค่ค่าเข้าพิพิธฯ กับค่าเรือไปกลับ (ซึ่งไม่เยอะ)

แน่นอนว่า นางโทษทุกอย่าง ตั้งแต่ แผ่นดิน ไปจนถึง แผ่นฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ และ ดวงดาว … ถ้านางรู้จัก กาแลกซี่ นางคงโทษกาแลกซี่ด้วย … หึๆ

คำสั่งเด็ดขาดของผม คือ “กลับบ้านเดี๋ยวนี้” … (ฮา)

ระหว่างนางเดินทางกลับบ้าน ผมก็กูเกิลดู เออ จริง เรือด่วนเจ้าพระยามันหยุดวิ่ง ส. อา. ช่วงนี้ เนื่องจากโควิด

ถึงบ้าน นางเดินเข้ามาจ๋อยๆ … พ่อคนนี้เลย จัดไป 1 กัณฑ์เทศน์แบบสวยๆ … 555

1.ลูกไม่ผิดเท่าไรที่ไม่รู้ว่าเรือมันไม่วิ่ง ส. อา. เพราะขนส่งมวลชนบ้านเรามันอาจจะปิดได้ด้วยเหตุไม่คาดคิดได้มากมาย เช่น ซ่อมถนน ขบวนเสด็จ ปิดซ่อม ประท้วง อุบัติเหตุ ฯลฯ

2. ที่ลูกผิด คือ ลูกเอาทรัพยากรอันจำกัดไปใช้จนหมด ก่อนจะบรรลุภาระกิจหลัก

3. พ่อไม่ได้สอนให้ไม่มีความสุขขณะเดินทางไปทำภารกิจ แต่ให้ประมาณ และ เหลือ ทรัพยากรเอาไว้เผื่อเหตุไม่คาดคิด กินได้ ดื่มได้ นิดๆหน่อยๆ เสร็จภาระกิจ แล้วค่อยซื้อของ ค่อยกินเยอะๆ หรือ จัดเต็ม

4. พ่อก็เคยสอนแล้ว ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ … เมื่อวันอาทิตย์ก่อน ที่พาไปชำระเงินค่าเรียนไวโอลิน ทันทีที่ถึงห้างหนูอยากกินข้าวก่อนไปชำระเงินค่าเรียนฯ แต่พ่อยืนยันว่า ให้ทำภาระกิจหลักเสียก่อน ค่อยกิน เผื่อมีปัญหาการชำระเงิน จะได้มีเวลาแก้ปัญหาให้เรียบร้อย แล้วค่อยเอาเวลาที่เหลือมากินข้าว

ชีวิตก็เช่นกันนะลูก …

หนูมีความสุข ระหว่างเดินทางไปปลายทางของชีวิตได้ แต่อย่าลืม สำรองทรัพยากร ทรัพย์สิน และ เวลา เอาไว้สำหรับภาระกิจหลัก และ เหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด … อย่าให้เหมือนวันนี้นะลูก

หนูก็แค่เด็กคนหนึ่ง ผู้ใหญ่หลายคนก็พลาดเรื่องนี้เช่นกัน

พ่อหวังว่าลูกจะจำบทเรียนวันนี้ไว้ตลอดไปนะ … …

เพราะพ่อเป็นได้แค่ “สะพาน” ที่ยาวครึ่งเดียวของชีวิตหนู … พ่อมีลมหายใจจำกัดที่จะอยู่สอนหนู เตือนหนู …

เมื่อวันที่ไม่มีพ่อ วันที่สะพานนี้ขาดลง หนูต้องหาทางเดินต่อเอง

พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร

Scroll to Top