Sour Pork กับแกล้มของโปรดพ่อ วิบากกรรมของผม

Sour Pork กับแกล้มของโปรดพ่อ วิบากกรรมของผม – เท่าที่ผมทราบเรื่องราวของพ่อ พ่อผมเป็นคนใช้ชีวิตแบบสุขนิยม แม้ว่าพ่อจะอยู่กับพวกเราและโลกใบนี้แค่ 67 ปี นิดๆ แต่ผมเชื่อว่าทุกนาทีของพ่อ พ่อมีความสุขแน่ๆ

My daddy ผมถาม “พ่อไม่กลัวหรือ” พ่อตอบ “ถ้าพ่อไม่ทำแล้วใครจะทำ”

หนึ่งในความสุขของพ่อ คือ การร่ำสุรา สุราแถวหน้าของพ่อ คือ เบียร์ แน่นอนว่าเมื่อมีเบียร์เป็น พระเอก ก็ต้องมีนางเอกเป็นกับแกล้ม ตามมาติดๆ

แม่ และ ผม เป็นแผนกกับแกล้ม กับแกล้มที่พ่อชอบมากคือ หมูแหนม (sour pork) และ หมูแหนมที่ไหนก็ไม่ถูกใจพ่อเท่าฝีมือคุณย่า

Sour Pork

กับแกล้มของโปรดพ่อ วิบากกรรมของผม

สมัยประถม ทุกๆปิดเทอมหน้าร้อน 2 เดือน เราจะไปอยู่กับคุณย่าที่อุบลฯ

คุณย่าเป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่งเลยทีเดียว คุณย่าทำทุกอย่าง คุณย่ามีฝูงวัว ควาย ทำไร่ และ เป็นแม่ค้าขายเนื้อหมูเนื้อวัวที่ตลาด เลี้ยงลุงป้าอาและพ่อ รวมทั้งหมด 8 คน

แน่นอนว่าฝีมือทำอาหารแบบอีสานแท้ๆของคุณย่าไม่เป็นสองรองใครในปฐพีสุวรรณภูมินี้แน่ๆ โดยเฉพาะกับแกล้ม 🙂

วันที่พวกเราเดินทางไปอุบลเป็นวันที่เราดีใจมาก ด้วยเหตุผล 2 ประการ

อย่างแรกคือ ได้นั่งรถไฟ (แม้จะแค่ชั้น 3) และ ได้นั่งแท็กซี่ เป็นโอกาสเดียวในรอบ 365 วัน ที่เราได้มีโอกาสทำ 2 อย่างนี้

เราจะตื่นแต่เช้า แม่หุงข้าวเหนียวใส่กระติบ ทอดหมูทอดไก่ ทำน้ำจิ้มแจ่วแห้งๆ ใส่กล่อง (ที่ต้องแห้งๆเพราะจิ้มบนรถไฟจะได้ไม่กระฉอก)

แม่มักจะซื้อขนมเล็กๆน้อยๆ ติดไปด้วย ขนมที่ติดตาผมที่สุดคือ อมยิ้มกังหันพลาสติก ที่ผมกับน้องมักจะเอามายื่นออกนอกหน้าต่างรถไฟให้มันหมุนติ้วๆแล้วเอามาชนกันว่าของใครจะพังก่อนกัน (ฮา) ส่วนแม่ก็มักจะอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ซื้อติดมือมาจากหัวลำโพง

บางปีพ่อลงมารับเราไปด้วยกัน เป็นการเดินทางแบบ 6 คนพ่อแม่ลูก บางปีพ่อไปรออยู่ที่บ้านย่า เราแม่ลูก 5 ชีวิต ก็กระแตงๆหอบหิ้วกันไป

หมูแหนม

ในบรรดาสะใภ้ทั้งหมดของย่า มีแม่ผมคนเดียวที่ไม่ใช่คนอีสาน นอกจากนั้นแม่เป็นสะใภ้คนเดียวที่มีการศึกษาสูงที่สุด คือ (เทียบเท่า) ป.ตรี แน่นอนว่าด้วยค่านิยม และ มุมมองของราชินีหญิงเก่งแห่งอาณาจักรอุบลในสมัยนั้น แม่ไม่ใช่ที่โปรดปรานเท่าไร เรียกว่าเป็นฮองเฮาที่ไทเฮาไม่ปลื้มก็ไม่ผิดนัก (ฮา)

แม่เป็นคนหัวสมัยใหม่ ไม่ค่อยลงให้ย่าเท่าไรนัก ย่าจึงค่อนข้างกึ่งๆ ไม่โปรด แต่ในขณะเดียวกันก็เกรงใจ และ ไว้ใจแม่ผมมากกว่าสะใภ้คนอื่น สังเกตุได้จากการตัดสินใจอะไรๆสำคัญๆของย่า ย่าจะฟังแม่ผมเสมอๆ และ ย่าจะให้แม่ผมดูแลเรื่องสำคัญๆอีกด้วย (เมื่อเทียบกับป้าๆอาๆสะใภ้คนอื่น)

เอาว่าเป็นความผูกพันที่แปลกๆระหว่างแม่ผัวลูกสะใภ้คู่นี้ ในมุมมองของคนเป็นลูกเป็นหลานอย่างผมก็แล้วกัน 555

แม่ผมก็ใช่ย่อย (แอบเม้าส์) ไม่ค่อยจะเชื่อฟังเออออกับย่าเท่าไร สมัยนี้คงใช้คำว่าขี้เถียง แต่มีเรื่องเดียวที่แม่ต้องยอบสยบให้ย่า คือ การทำหมูแหนม

ปิดเทอมใหญ่ฤดูร้อนหนึ่ง ผมอยู่ ป. 3 ได้มัง ผมจึงได้เห็นแม่ยอมไปเป็นลูกมือย่าทำแหนมหมูแหนมวัวในครัวที่อุบลอยู่พักใหญ่

Sour Pork
หมูแหนมห่อด้วยใบตอง

สูตรของย่า

กลับมากทม. แม่ก็เริ่มลองวิชาทันที โดยมีผม และ น้องๆเป็นลูกมือ (ตามเคย)

เนื้อหมูต้องไม่ล้าง พ่อชอบแบบมีมันเยอะหน่อยๆ เราจึงต้องเลือกหมูส่วนที่มีมันแทรกๆ เรื่องนั้นแม่เป็นคนจัดการ

เราจะเอาเนื้อหมูออกจากตู้เย็นแต่เช้า วางไว้นอกตู้เย็นจนบ่ายๆเย็นๆแล้วค่อยทำ ถามแม่ว่าทำไม แม่บอกว่าไม่รู้ ย่าบอกว่าอย่าทำแหนมตอนเนื้อหมูออกจากตู้เย็นใหม่ๆ เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของจุลลินทรีย์ที่โดนน็อคความเย็นแล้วยังไม่ฟื้นตัวดีมัง (ฮา)

เมื่อแดดร่มลมตก ก็ถึงคิวงานถึกๆที่แม่จะให้ผมทำ คือ สับหมู

เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีเครื่องบดหมู และ อีกอย่าง ถึงมีนะ พ่อก็ไม่ชอบ เพราะเนื้อแหนมมันจะเนียนๆเละๆ พ่อชอบแบบเนื้อสับหยาบๆ ดังนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ผมจัดการสับหมูให้ แต่ดีไปอย่างที่ไม่ต้องสับนาน

ส่วนน้องสาวผมก็มีหน้าที่ปอก และ สับกระเทียมแบบหยาบๆ กองมหึมา (ในสายตาเด็กๆตอนนั้น) ตรงนี้เป็นข้อดีของความชอบของพ่ออีกอย่างที่ พ่อชอบกินกระเทียมทั้งเปลือกแข็งๆ เราจึงไม่ต้องลอกเปลือกออกจนเหลือแต่เนื้อกลีบกระเทียมขาวจั๊วะ ทุ่นเวลาและแรงงานไปได้เยอะ

พริกก็ไม่ต้องหั่น ล้าง ผึ่งลมให้แห้ง แล้วก็พร้อมเอามาคลุกได้

แล้วก็ถึงงานส่วนที่พวกเราเกลียดที่สุด คือ ถอดขนหนังหมู

แม่จะเอาหนังหมูดิบมาต้ม ใส่เกลือสัก 1 กำมือ พอหนังหมูเปลี่ยนจากสีขาวขุ่นทึบเป็นสีใสๆ ก็แปลว่าสุกได้ที่ แม่จะเอาส้อมจิ้มออกมา ส่งให้พวกเราคนละชิ้นเขื่องๆ

เราสี่คนก็จะเอาช้อนสังกะสีคมๆขูดเอาไขมันใต้แผ่นหนังหมูออกจนเกลี้ยง แล้วเอาแหนบถอดขนออกทีล่ะเส้นๆ เป็นงานที่น่าเบื่อ และ กลิ่นหืนๆก็น่าพะอืดพะอมมาก

หลังจากนัั้นเราก็จะซอยหนังหมูเป็นเส้นๆ นี่ก็เป็นงานน่าเบื่ออีก แต่เราก็หาทางที่จะสนุกกับมัน

เหมือนกับที่เราทำทอดมันในตอนตลาดปากน้ำ … แทนที่เราจะหันเป็นเส้นๆขนาดหนาๆ(กว่าที่ทำขายในท้องตลาด) ตามแบบที่ย่าสอนแม่มา พวกเราก็หั่นเป็นรูปทรงต่างๆตามแต่จะจิตนาการเด็กวัยนั้นคิดได้ผสมๆลงไปในอ่างคลุกแหนม ซึ่งแม่ยิ้มๆแต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร

Pak Nam market เช้าวันอาทิตย์ กับ แม่ ในวันวาน

พ่อผมจึงได้กินหนังหมูหน้าตาแปลกๆฝีมือพวกผมแกล้มเบียร์เป็นประจำ แต่ก็ไม่เห็นพ่อบ่นอะไรนะ 555

ขั้นตอนทั้งหมดที่ผ่านมาจนถึงตรงนี้ แม่ไม่ได้ทำเลย เป็นฝีมือเละๆเทะๆของพวกเรา 4 คน แต่ขั้นตอนต่อไปนี่ไม่รู้ว่ามันยากตรงไหน แม่สงวนไว้ทำเอง

ดูๆแล้วไม่ยากอะไร แค่เอาของที่พวกเราเตรียมมาทั้งหมดใส่กะละมังใบใหญ่ โรยเกลือเล็กน้อย แล้วแม่ก็ขยำๆ คลุกๆ (มันยากตรงไหนว่ะ ผมแอบคิด)

ระหว่างนั้นผมกับน้องชาย (ทั่นที่ตอนนี้เป็นว่าที่นายพลอากาศตรีนี่แหละ .. ขอแซวมันบ่อยหน่อย ไม่เคยคิดว่ามันจะได้มาไกลขนาดนี้ 555) ก็ออกไปตัด และ เจียนใบตอง ลนไฟพอให้นิ่มๆ (ห่อแหนมจะได้ไม่ปริแตกเป็นริ้วๆ) ผับๆเป็นแผ่นขนาดพอดีห่อเตรียมไว้ให้แม่

น้องชายคนเล็กกับน้องสาวก็มักจะไปเตรียมหนังยาง (ตอนที่ย่าสอนแม่ ผมเห็นย่าใช้ตอกไม้ไผ่) และ ของใช้อื่นๆจิปาถะ เตรียมเอาไว้ให้แม่

ผมพยายามห่อแหนมด้วยใบตองเองหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลย ไม่รู้เป็นไร มันมักหลวมๆ ยุ่ยๆ ซึ่งทำให้ไม่เป็นแหนม ย่าบอกว่า การห่อแหนมด้วยใบตอนนี่สำคัญ ต้องห่อให้แน่นๆ อย่าเสียดายใบตอง ลายใบตองก็ต้องไขว้ๆกันเป็นชั้นๆ

ถ้าเราเริ่มทำกันสักบ่ายสี่โมง เราก็จะเสร็จกันราวๆหกโมงเย็นพอดี เอาแหนมที่แม่ห่อเสร็จใส่ตะกร้าโปร่งๆปิดฝาแล้วซ่อนพ่อเอาไว้ให้ดี เพราะพ่อชอบมาก จมูกไวด้วย พ่อชอบมาแอบเอาไปกินก่อนเวลาที่มันจะ “สุก” (ภาษาของย่า ไม่ได้สุกจริง แต่หมายความว่าเนื้อหมูหมักได้ที่เป็นแหนม ไม่ใช่เนื้อดิบๆ) นั่นทำให้แม่โมโหมาก

บ่อยครั้งที่เราต้องเปลี่ยนที่ซ่อนแหนมไปเรื่อยๆ บางทีถึงขนาดต้องเอาไปฝากไว้กับลุงข้างๆบ้าน (ฮา)

นอกจากแหนมหมูแล้ว กับแกล้มยอดนิยมของพ่ออีก สองอย่างคือ ยำเล็บมือนาง กับ ยำผ้าขี้ริ้ว … เอาไว้โอกาสหน้า จะมาเล่าให้ฟังล่ะกันว่าแม่และพวกเรามีทีเด็ดอะไร 🙂

ความขาดแคลนในวัยเด็กของพวกเรา สั่งสอนกล่อมเกลาเราหลายๆอย่าง หนึ่งในนั้น คือ การที่เราสามารถหา และ มี ความสุขกับงานการเล็กๆน้อยๆได้ตลอดเวลา โดยมีแม่เป็นเหมือนตะเกียงส่องทาง ทางที่พวกเราควรจะคิด ควรจะพูด และ ควรจะทำ …

พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร

My daddy ผมถาม “พ่อไม่กลัวหรือ” พ่อตอบ “ถ้าพ่อไม่ทำแล้วใครจะทำ”


My daddy ผมถาม “พ่อไม่กลัวหรือ” พ่อตอบ “ถ้าพ่อไม่ทำแล้วใครจะทำ”
Scroll to Top